เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ประชุมนัดแรก ผ่านมาแค่ 6 วันเท่านั้น ได้มีการจับกุมเรือประมงผิดกฎหมายแล้ว
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เผยว่า ประเทศไทยต้องเป็นผู้นำต่อต้าน IUU ในอาเซียน รวมถึงไม่มีการประมง IUU ทั้งระบบ โดย 1. เรือประมงถูกต้อง ไม่ว่าเรือไทย เรือสัญชาติอื่น ทุกลำต้องมีทะเบียน มีสัญชาติเดียว และต้องแจ้งเข้า-ออก ตามกฎหมายทุกฉบับ 2.การทำประมงถูกต้อง เรือประมงไทยจะจับปลาต้องมีใบอนุญาต เครื่องมือประมงต้องเป็นไปตามมาตรฐานไม่ทำลายล้างทรัพยากรทะเล
ไม่มีการจับสัตว์ทะเลคุ้มครอง สัตว์ทะเลสงวน เช่น โลมา วาฬ พะยูน รวมถึงการจับปลาในเขตพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ชายฝั่ง โดยเด็ดขาด และสุดท้าย 3. แรงงานประมงบนเรือถูกต้อง ทุกคนต้องเป็นแรงงานที่เข้าตามระบบ ได้รับค่าจ้าง สวัสดิการ ครบถ้วน มีเวลาทำงาน เวลาพักตามกฏหมาย ไม่มีแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ ไม่มีการขนถ่ายแรงงาน ค้ามนุษย์ทั้งกลางทะเลและบนบก โดยเด็ดขาด เช่นเดียวกัน
“ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในการทำงานว่า ผมเอาจริง และตั้งใจเต็มที่ ในการตัดเนื้อร้าย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ให้ออกจากภาคประมงไทย คนเหล่านี้ต้องไม่มีที่ยืน ขณะเดียวกันพี่น้องชาวประมงที่ดีจะได้รับความคุ้มครองดูแลจากภาครัฐอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยในฐานะ “รัฐเจ้าของท่า” (Port State) ยังคงมีระบบการควบคุมและเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เราได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐ NGOs และพี่น้องชาวประมงที่ต้องการเห็นทะเลไทย ไร้ IUU”
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากปฏิบัติการวันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กรมประมง กรมเจ้าท่า และกรมศุลกากร จะดำเนินการ “ตรวจเข้ม” อู่เรือประมง ท่าเทียบเรือประมง และท่าเทียบเรือสนับสนุนการประมงทุกแห่ง เพื่อ “ขจัด” เรือประมงผิดกฎหมายเหล่านี้ให้หมดสิ้น และหากพบว่า “มีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ก็จะดำเนินการเอาผิดโดยเด็ดขาดเช่นเดียวกัน
สำหรับการจับในครั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ/ รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร./รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการตรวจสอบและปราบปรามกรณีดังกล่าว
โดยได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พนัญชัย ชื่นใจธรรม รองประธานคณะทำงานฯ/หัวหน้าชุดปฏิบัติการด้านการประมงฯ, พ.ต.อ.จักริน พันธุ์ทอง รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ, พ.ต.อ.ปรเมษฐ โพยนอก รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการฯ ประสานการทำงานร่วมกับ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล กรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติและรองประธานคณะทำงานฯ และ น.อ.สามารถ กลิ่นคำหอม หัวหน้าศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือ จ.สงขลา ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 2 (ศรชล) และตำรวจภูธรภาค 9 ดำเนินการตรวจสอบเรือประมงขนาดใหญ่จำนวน 5 ลำ ที่แสดงตนว่าเป็นเรือสัญชาติอินโดนีเซีย และลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ชุดปฏิบัติการด้านการประมงฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สืบสวน ศพดส.ตร.,ศรชล ภาค 2 และตำรวจภูธรภาค 9 ได้เข้าทำการตรวจสอบ อายัด และสั่งกักเรือประมง “ปลอมแปลง” สัญชาติ ซึ่งลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย จำนวน 5 ลำ พร้อมลูกเรือ จำนวน 15 ราย โดยแยกตามพฤติการณ์เป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : เรือประมงจำนวน 3 ลำ ได้แก่
กลุ่มที่ 2 : เรือประมงจำนวน 2 ลำ ได้แก่
โดยการประดับธงชาติอินโดนีเซียเช่นกัน ก่อนเดินทางออกจากท่าเทียบเรือ ประเทศมาเลเซีย มาจอดพักที่ท่าเทียบเรือ อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส และเดินทางมายังอู่เรือศรีสงขลา จังหวัดสงขลา โดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร รวมทั้งไม่แจ้ง กรมประมง และ กรมเจ้าท่า
เช่นเดียวกันเรือประมงทั้ง 5 ลำมีลูกเรือรวมทั้งสิ้น 15 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทยจำนวน 12 ราย กัมพูชา 2 ราย และเมียนมา 1 ราย และมีพฤติการณ์ในการแจ้งข้อมูลการเข้าออกท่าเทียบเรือช้ากว่าที่กำหนด และตัวแทนเรือดังกล่าวมีการยื่นเอกสารสำแดงเป็นเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย แต่รายละเอียดในเอกสารไม่ตรงกับตัวเรือจริง ทั้งสัญชาติ ขนาดและเครื่องยนต์
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ลักลอบนำเข้าเรือประมงเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากร” ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ, “ปลอมแปลงหรือปิดบังเครื่องหมายเรือประมงหรือทะเบียนเรือประมง” ซึ่งเป็นความผิดตาม พระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 มีโทษปรับตามขนาดเรือ ตั้งแต่ 6 แสน
ถึง 30 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นเรือประมงทั้ง 5 ลำ ได้แก่ เรือประมง 30 ตัน 2 ลำ, ปรับลำละ 6 แสน รวม 1.2 ล้าน, เรือประมง 148 ตัน 1 ลำ ปรับลำละ 6 ล้าน รวม 6 ล้าน เรือประมง 200 ตัน 2 ลำ ปรับลำละ 30 ล้าน รวม 60 ล้าน ดังนั้น เรือประมง 5 ลำนี้จะต้องถูกปรับเป็นวงเงินรวมกันถึง 67 ล้านบาท
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จึงขอความร่วมมือพี่น้องสื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงพฤติการณ์ในการกระทำผิดลักษณะดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปได้ทราบถึงลักษณะการทำประมงที่เป็นความผิดตามกฎหมาย
นอกจากนี้หากประชาชนพบเห็นการกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งข้อมูลมายัง ศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) โดยตรง ช่องทางสายด่วน 1599 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/antihumantraffickingpolice เพื่อแจ้งเบาะแสในการปราบปรามการกระทำผิดต่อไป