“เงินเฟ้อ”ฉุดเศรษฐกิจโลกปี 65 ตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วน! เตือนไทยรับมือ

11 ธ.ค. 2564 | 01:27 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2564 | 08:50 น.

ปี 2565 ยังมีหลายตัวแปรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเชื่อมโยงโลก เชื่อมโยงประเทศ ไทย ตัวแปรที่ยังเป็นปัจจัยเฝ้าระวังของเศรษฐกิจโลกมีอะไรบ้าง และเศรษฐกิจไทยจะไปในทิศทางไหน ต้องรับมืออย่างไร

 

“เงินเฟ้อ”ฉุดเศรษฐกิจโลกปี 65 ตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วน! เตือนไทยรับมือ

 

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” อย่างน่าสนใจและต้องติดตาม

 

  • ระวังศก.ชะลอตัวกว่าปี 64

อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2565 ว่า เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงกว่าปี 2564 โดยจีดีพีโลกจะลดลงเหลือ 4% เศษเทียบกับปี 2564 ที่จีดีพีโลกใกล้แตะ 6% โดยประเมินว่าปี 2565 จะมีหลายตัวแปรที่ผันผวน  เช่น  เกิดการแปรเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เข้มงวดขึ้นเช่น การลดมาตรการ QE (การผ่อนคลายเชิงปริมาณ) อย่างรวดเร็ว เคยใช้เงินซื้อพันธบัตรจะลดลง และจะหมดลงเร็วไม่เกินครึ่งปีแรกปี 2565 และหลังจากนั้นจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  เพราะเฟดต้องการคุมอัตราเงินเฟ้อ  และที่น่าเป็นห่วงมากคือตอนนี้ทั่วโลกเกิดภาวะเงินเฟ้อแล้ว   และประเทศที่เกิดภาวะเงินเฟ้อมากเป็นพิเศษคือประเทศที่ใช้มาตรการ QE เยอะ ๆ

 

รศ.ดร.สมภพ  มานะรังสรรค์

 

 “คิดว่าปี 2565 นี้ เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกว่าปี 2564 แน่นอน ตลาดเงินตลาดทุนก็จะปั่นป่วนมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศต่างมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อทั่วหน้า”

 

 ดังนั้นตลาดเงินตลาดทุน ตลาดอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรทั้งหลายจะปั่นป่วน ก็จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนปั่นป่วนไปด้วย

 

 

  • การเมืองมหาอำนาจตัวแปร

 นอกจากนี้สิ่งที่ต้องจับตาปี 2565 คือปัญหาทางการเมืองในประเทศ ที่มีการเลือกตั้ง มีการต่อสู้ และพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำพรรค และการเปลี่ยนตัวรัฐบาลด้วย เป็นต้น อีกทั้งยังต้องติดตามการเมืองในชาติมหาอำนาจด้วยกันว่าจะมีท่าทีอย่างไร เหล่านี้ล้วนมีผลต่อเศรษฐกิจโลก แต่หากความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯดีขึ้นจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกด้วย เช่น การประกาศยุติสงครามการค้า โดยเลิกขึ้นภาษีสินค้าระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันจีนส่งสินค้าไปสหรัฐฯยังเก็บภาษีอยู่ 25% โดยเฉลี่ย หากมีการลดภาษีเหล่านี้ลงจะทำให้การค้าโลกเริ่มดีขึ้นด้วย รวมถึงเศรษฐกิจไทยก็จะได้อานิสงส์ด้วย

 

“เงินเฟ้อ”ฉุดเศรษฐกิจโลกปี 65 ตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วน! เตือนไทยรับมือ

 

  • ฟื้นภาคบริการช่วยส่งออก 

รศ.ดร.สมภพ มองโลกแล้วมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยด้วยว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขยับตัวได้ตามอัตภาพ การส่งออกก็ยังขยับไปได้ต่อเนื่องในปี 2565  แต่การส่งออกจะเป็นอัศวินม้าขาวที่ตัวเล็กลง ดังนั้นเราจำเป็นต้องเสริมโดยกอบกู้ภาคบริการ  ทั้งในประเทศและที่มาจากนอกประเทศ  เช่น การท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งในส่วนนี้ยังหวังได้ยาก ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการคุมเข้มการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ฉะนั้นจำเป็นต้องเร่งกอบกู้ภาคบริการภายในประเทศ  เช่น ต้องกระตุ้นให้ภาคค้าปลีกเติบโต ปลุกท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมการทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นภายใต้ข้อควรระวังด้านโควิดและต้องฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม กระตุ้นด้านการกีฬา ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ สปา นวด ออกกำลังกาย และเศรษฐกิจ ธุรกิจดิจิทัลต้องส่งเสริมอย่างจริงจัง

 

สำหรับประเทศไทย กำลังซื้อจะขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนหลัก คือ 1.ต้องปลุกภาคบริการ เนื่องจากเป็นสัดส่วนมากถึง 50% ของจีดีพี 2.ต้องบริหารจัดการด้านแรงงาน เพราะสิ่งที่ปรากฏในขณะนี้คือ มีทั้งเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานและปัญหาคนว่างงานเกิดขึ้นพร้อมกัน  หากสามารถบริหารจัดการ 2 ส่วนนี้ได้ ก็จะมีส่วนช่วยกอบกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย  เพราะคนจะมีกำลังซื้อมากขึ้น สถาบันการเงินก็ยินดีปล่อยกู้ซื้อบ้านมากขึ้น และปี 2565 หากจีดีพีไทยขยายตัวได้ 3-4% ขึ้นไปก็ถือว่าใช้ได้

 

  • จับตาการค้าไทย-อาเซียน

 ส่วนกรณีที่มีการมองกันว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวดีขึ้น  ไทยจะได้รับอานิสงส์ด้านใดบ้างนั้น มองว่าทิศทางต่อไปหากเศรษฐกิจจีนดี ทั้งไทยและอาเซียนจะได้รับอานิสงส์มากขึ้น ทั้งด้านการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย โดยมองว่าโอกาสทางการค้าไทย-จีนจะขยายตัวมากขึ้น จากเวลานี้จีนมีอาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง จากเดิมที่จีนมีสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งสลับกับยุโรป ส่วนการค้ากับอาเซียนอยู่อันดับ 3

 

“ตอนนี้ไทยเองก็มีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง โดยไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด เช่นเดียวกับการลงทุน ที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยและในอาเซียนมากขึ้น”

 

ที่สำคัญตอนนี้มีรถไฟจีนเชื่อม สปป.ลาว จะมีการขนสินค้าไปขายในจังหวัดอุดรธานี หนองคายมากขึ้น และรถไฟสายนี้จะมีผลมากในการปลุกเศรษฐกิจในภาคอีสาน เช่นเดียวกับปลุกการลงทุนในพื้นที่จะเพิ่มมากขึ้น อสังหาฯในภาคอีสานก็จะเพื่องฟู (ปัจจุบันต่างชาติครอบครองอสังหาได้ 49%) รวมถึงความคึกคักด้านท่องเที่ยวก็จะตามมาด้วย

 

“เงินเฟ้อ”ฉุดเศรษฐกิจโลกปี 65 ตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วน! เตือนไทยรับมือ

 

 สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนจะขยับตัวได้เร็วกว่าสหรัฐฯ เนื่องจากจีนสามารถเดินนโยบายด้านการเงินได้ง่ายและเร็วกว่าสหรัฐฯ จะเห็นว่าเมื่อเร็วๆ นี้ จีนให้ธนาคารพาณิชย์ลดการถือเงินสดสำรอง (RRR) โดยธนาคารกลางจีนประกาศปรับลดการถือเงินสดสำรอง (Reserve Requirement Ratio หรือ RRR)ตามกฎหมายในอัตรา 0.5%

 

“ขณะที่อเมริกาจะทำทันทีแบบจีนไม่ได้เพราะอเมริกาเกิดภาวะเงินเฟ้อขยายตัวสูงมาก ขณะที่จีนมีอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอเมริกามาก โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจีนมีอัตราเงินเฟ้อเพียง 1.5%  ขณะที่อเมริกามีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 6.2%”

 

ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องจับตามอง เพราะทุกด้านเชื่อมโยงถึงกันหมด

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3739 วันที่ 12-15 ธันวาคม 2564