6 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เข้าร่วมรับฟังและชี้แจงแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ณ ห้องประชุมธารทิพย์ อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี" กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการเกษตร 5 เรื่อง ได้แก่
1.ตลาดนำการผลิต
2.เทคโนโลยีเกษตร 4.0
3. 3’S (Safety – Security – Sustainability)
4.บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล "เกษตร พาณิชย์ทันสมัย"
5.เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการเกษตร การเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาสินค้า พัฒนาเกษตรกร และส่งเสริมปศุสัตว์และประมง สร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ กลุ่มผู้นำสตรี รวมถึงยกระดับรายได้เกษตรกรระดับรากหญ้า และการปรับปรุงระบบที่ทำกินและการบริหารจัดการน้ำ
พร้อมนี้ ได้กำหนดโครงการสำคัญเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้ 1.โครงการสำคัญที่สนับสนุนแผนแม่บทประเด็นการเกษตร อาทิ เกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น เกษตรปลอดภัย เกษตรชีวภาพ เกษตรแปรรูป เกษตรอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เป็นต้น
2.โครงการสำคัญที่สนับสนุนแผนแม่บทอื่นๆ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากน้ำ โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย เป็นต้น
3.งานตามภารกิจพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็น อาทิ การป้องกันสุขภาพสัตว์ เฝ้าระวังควบคุมโรคสัตว์ จัดหาที่ดินทำกินแก่เกษตรกรรายย่อยและพัฒนาแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน ส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร ส่งเสริมตลาดเกษตรกร การช่วยเหลือด้านหนี้สินเกษตรกร สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกร ปรับปรุงคุณภาพดิน ส่งเสริมการจัดทำบัญชีครัวเรือนแก่เกษตรกร การตรวจราชการและติดตามงานในพื้นที่ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เตรียมการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงเกษตรฯ ขอให้สำนักงบประมาณฯ พิจารณางบประมาณปี 2566 โดยเฉพาะงบประมาณในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง โรคระบาดในพืชและสัตว์ และการแก้ปัญหาผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID 19) ที่มีต่อภาคเกษตร ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้การช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่อยู่ในภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ดร.เฉลิมชัย ระบุ