นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแม่น้ำโขง เปิดเผยถึง ผลการประชุมผ่านระบบ ZOOM ในวันนี้ (28พ.ย.)โดยมีนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวง นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตร นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ประธานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ศ.ดร.ทวนทอง จุฑาเกตุ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายกฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนองค์กร ตัวแทนเกษตรกรจากทุกจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง เข้าร่วม
ประเด็นสำคัญการประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามความก้าวหน้าของการทำงานโดยคณะอนุกรรมการฯในพื้นที่ และแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 - 2570 พร้อมพิจารณาการตั้งของบประมาณในปี 2566 ตามโครงการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านของประชาชนต่อผลกระทบของแม่โขงที่เปลี่ยนแปลงไป
นายอลงกรณ์กล่าวว่า ความก้าวหน้าของคณะอนุกรรมการฯ ในพื้นที่ทั้งด้านเกษตรและด้านประมง อย่างครอบคลุมในทุกระดับ โดยเห็นชอบในกรอบและแนวทางของร่างแผนพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566 – 2570 นั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างเสริมและเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการเพาะเลี้ยง แปรรูป การตลาด และรองรับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ส่งเสริมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มีความหลากหลายทางชีวภาพ และป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ พร้อมส่งเสริมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านทรัพยากรประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยจะร่วมกันในการพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้แผนมีความสมบูรณ์สูงสุด
แผนงานดังกล่าวมีโครงการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์จำนวน 44 โครงการ วงเงินงบประมาณกว่า 195.87 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2566 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการภายใต้กรอบวงเงินดังกล่าว และมีแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงเพิ่มเติม โดยจะเสนอเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาขอรับงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึง ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา และนโยบายการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากโดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถเชื่อมโยง เครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ สามารถ ช่วยเหลือสมาชิกเกษตรกร เอื้อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งสังคม ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติให้เข้มแข็งและยั่งยืนภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคการเกษตรไทยของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แก่ยุทธศาสตร์ "3’s"(Safety-Security-Sustainability-เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน และให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ ทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป