คนไทยปีเสือดุ นอกจากยังต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปีที่ 3 แล้ว ณ เวลานี้ยังต้องเผชิญกับภาวะราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ดันค่าครองชีพคนไทยสูงปรี๊ด สวนทางกับรายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแพร่ระบาด
ไล่ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ราคาผักชีแตะ 400 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)สูงสุดในรอบ 42 ปี กลายเป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ถัดมาปลายปี 2564 ถึงเวลานี้ ราคาหมูขายปลีกพุ่งสูงกว่า 200 บาทต่อ กก.ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นฟางเส้นสุดท้ายผู้บริโภคถามกันสนั่นเมือง ทำไมหมูแพง? เรื่องมาโป๊ะแตก เมื่อคนเลี้ยงหมูออกมายืนยันผลการตรวจสอบพบช่วงที่ผ่านมาไทยมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ยังผลให้หมูล้มตายลงจำนวนมาก สวนทางกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
ล่าสุด (11 ม.ค. 65) นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้ออกมายอมรับและออกประกาศให้โรค “ASF” เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย หลังผลวิเคราะห์ตัวอย่างจากเลือดสุกรและจากพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์จำนวน 309 ตัวอย่าง พบเชื้อ ASF จำนวน 1 ตัวอย่าง จากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่มาจากจังหวัดนครปฐม ซึ่งทางกรมได้เตรียมแจ้งไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ต่อไป ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลาง 574 ล้านบาท ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แก้ปัญหาและเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 56 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และจะยกระดับการป้องกันโรค ASF ต่อไป
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โรค ASF ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ทั้งนี้จากปริมาณผลผลิตหมูในไทยปี 2564 ผลิตได้ 13 ล้านตัว มีเกษตรกรผู้เลี้ยงเกือบ 2 แสนราย(ตัวเลขกรมปศุสัตว์) แต่ตัวเลขจริงพบว่ามีปริมาณการผลิตหมูน้อยกว่า 13 ล้านตัว และเกษตรกรก็มีน้อยกว่า 2 แสนราย (โดยผู้เลี้ยงรายใหญ่มีกำลังการผลิตคิดเป็นสัดส่วน 70%) อย่างไรก็ดีตัวเลขล่าสุดพบว่าเกษตรกรรายย่อยไม่มีหมูแล้ว หรือ “เหลือศูนย์” และรายใหญ่มีปริมาณหมูลดลงเหลือ 35% ฉะนั้นเวลานี้มีหมูในประเทศเพียง 3-4 ล้านตัวต่อปีเท่านั้น ขณะที่ปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศมีปีละ 8.5 ล้านตัว (ตัวเลขปี 2562) ดังนั้นเมื่อความต้องการหมูมีมากกว่าการผลิต หมูจะยังคงมีราคาแพงต่อไป
“ช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (2549-2564) ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยที่ 70 บาทต่อกก. ยกเว้นเดือนมกราคมล่าสุดราคาอยู่ที่ 110 บาทต่อกก. โดยราคาหมูขายปลีกขึ้นไปมากกว่า 200 บาทต่อ กก.ประเมินว่าราคาหมูขายปลีกของไทยจะยังคงสูงตลอดทั้งปีนี้ และอาจอีกหลายปี ทั้งนี้หากไทยไม่สามารถแก้ปัญหาโรค ASF ได้อนาคตผู้เลี้ยงหมูรายย่อยมากกว่า 1 แสนรายน่าเป็นห่วงมาก”
สำหรับข้อเสนอแนะทางแก้หมูแพงและอนาคตธุรกิจหมู คือ 1.ข้อมูลหมูทั้งระบบต้องปรับปรุง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ตรงกัน และไม่เป็นปัจจุบันจะทำให้การวางแผนแก้ไขปัญหายาก 2.ส่งเสริมเกษตรกรรายใหม่ จากรายย่อยเดิมไม่สามารถเลี้ยงหมูในสถานที่เดิมได้ เพราะโรคระบาดยังอยู่ โดยในเกษตรกรรายเดิมแต่แปลงเป็นรายใหม่ในสถานที่ใหม่ ซึ่งจะเป็นโอกาสเพิ่มปริมาณหมู 3.ปรับระบบการเลี้ยงแบบมาตรฐานในทุกขั้นตอนอย่างเข้มงวด เพื่อแก้ปัญหา ASF และ 4.เพิ่มปริมาณการผลิตไก่ ซึ่งจะทำให้ราคาหมูค่อย ๆ ลดลง จากผู้บริโภคหันไปกินไก่มากขึ้น ไม่อย่างนั้นราคาเนื้อไก่จะเพิ่มขึ้นตามไปอีก
สอดคล้องกับนายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา ที่กล่าวว่า แนวโน้มราคาหมูยังปรับลงยาก เพราะผลผลิตเสียหายมาก และขาดตลาด ไม่น่าฟื้นตัวได้เร็วตามที่รัฐบาลต้องการ ซึ่งการกระตุ้นโดยให้เงินสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้เลี้ยง ปัญหาคือคนไม่อยากเป็นหนี้เพิ่ม เลี้ยงไปก็กลัวตายเหมือนเดิม ดังนั้นต้องหยุดพักเล้า ต้องสวอปเชื้อ เหมือนตรวจโควิด 2 รอบ ถึงจะลงเลี้ยงใหม่ได้ รวมถึงหารัฐบาลรับปากว่าถ้าเลี้ยงแล้วตายจะชดเชยให้ จะทำให้ทุกคนกล้าเลี้ยง
ขณะที่ราคาไข่ไก่ ที่คนหันมาบริโภคเพิ่มขึ้น นายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทางสมาคมฯได้แจ้งปรับขึ้นราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเมื่อวันที่ 10 ม.ค.65 จาก 2.80 บาทต่อฟอง เป็น 3 บาทต่อฟอง ซึ่งล่าสุดทางกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือปรับลดราคาลงมาเหลือ 2.80 บาทต่อฟองเช่นเดิม อย่างไรก็ดีราคาไข่ในอนาคตยังมีโอกาสปรับขึ้นอีก หากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่ปรับตัวลดลง
ส่วนเนื้อไก่ที่เป็นอีกหนึ่งอาหารโปรตีนที่คนหันมาบริโภคเพิ่มขึ้นแทนหมู ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ได้ประกาศปรับขึ้นราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มเป็น 37-39 บาทต่อกก. (จากพ.ย.64 เฉลี่ยที่ 34-35 บาทต่อกก.) ผลพวงจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ และค่าบริหารจัดการเพื่อดูแลสวัสดิภาพสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นนั้น
ล่าสุดนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่า ได้รับมอบหมายจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้หารือกับผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือผู้ประกอบการว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ยากลำบากของผู้บริโภค ไม่ควรปรับขึ้น โดยได้ขอความร่วมมือในการลดราคาลงมาให้อยู่ในระดับก่อนหน้าที่หมูจะมีราคาแพง ซึ่งได้รับการตอบรับแล้ว โดยราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ 33.50 บาทต่อกก. และราคาไก่ขายปลีก เช่น เนื้อไก่สดรวมเครื่องในหรือไม่รวมเครื่องในลดลงมาอยูที่ 60-70 บาทต่อ กก. เนื้อสะโพก /น่อง 60-65 บาทต่อ กก. เนื้ออก 65-70 บาทต่อกก.โดยให้ยืนราคานี้ไป 6 เดือน
ด้านนางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับภาครัฐที่นำกฎหมายมาควบคุมราคาไก่ไม่ให้ปรับขึ้น เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้เลี้ยงไก่ขาดทุนสะสมมาหลายปี จากต้นทุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิต (สัดส่วน 60%) ปรับตัวสูงขึ้น 30-40% ขณะที่มีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 36-38 บาทต่อกก. เทียบกับราคาไก่ที่ขายได้แทบไม่มีกำไร ทำให้ผู้เลี้ยงไก่อิสระรายย่อยปิดตัวไปจำนวนมาก ดังนั้นขอให้ภาครัฐมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเกษตรกรลดต้นทุนบ้าง
อย่างไรก็ดี “ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบพบมีอีกหลายสินค้า/บริการที่จ่อปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้รายจ่ายภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ตรึงราคาที่ 318 บาทต่อถัง (ขนาด 15 กก.) จะสิ้นสุดเดือน ม.ค.นี้ และจะทยอยปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได (ล่าสุดที่ประชุม กบง.วันที่ 11 ม.ค. 65 มีมติให้คงราคาก๊าซ LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กก.ไปถึงวันที่ 31 มี.ค. 65) ส่วนค่าสาธารณูปโภค อย่างค่าไฟฟ้า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ส่งสัญญาณมาแล้วว่า ในช่วงปี 2565 จะทยอยปรับค่าไฟฟ้าเป็นแบบขั้นบันไดเช่นกัน นอกจากนี้มีอีกหลายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เวลานี้ได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่น น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม เหล็ก วัสดุก่อสร้าง ปุ๋ยเคมี ฯลฯ
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3748 วันที่ 13-15 มกราคม 2565