“วิกฤติหมูแพง” (ที่สุดในรอบ 10 ปี) ที่คนไทยเผชิญอยู่ตอนนี้ สาเหตุหลักมาจากหมูขาดแคลนเนื่องจากโรคระบาดทำให้ผลผลิตหายไปจากตลาดมากกว่า 30-40% ทั้งภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ให้ความเห็นตรงกันว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ในการพลิกฟื้นสถานการณ์การผลิตและราคาให้กลับสู่ภาวะปกติตามกลไกการตลาดได้ หากมองประเทศไทยและประโยชน์ของผู้บริโภคในอนาคต ภาครัฐควรใช้วิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการบูรณาการห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการย้อนกลับมาของ “หมูแพง”
เกษตรกรรายย่อยเป็นฟันเฟืองสำคัญในห่วงโซ่การผลิตเนื้อหมู เพื่อเพิ่มปริมาณเข้าสู่ตลาดในประเทศในภาวะเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องยกระดับการเลี้ยงและ มาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) และความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) เพื่อลดความเสี่ยงของการนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์ม ขณะเดียวกันป้องกันการกระจายของเชื้อโรคภายในและออกจากฟาร์ม รวมถึงการแพร่กระจายของโรคในประชากรสัตว์ ตลอดจนต้องส่งเสริมการเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่จำเป็นในราคาที่เหมาะสมและเพียงพอ ในการผลิตเนื้อสัตว์คุณภาพดีและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
ภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ต้องเดินหน้าสนับสนุนเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องให้ฟื้นตัวและกลับเข้าเลี้ยงสัตว์ได้เร็วที่สุด เพื่อเติมผลผลิตส่วนที่ขาดหายไป ด้วยการสร้างหลักประกันความมั่นคงทั้งรายได้และการส่งเสริมแหล่งอาหารที่ยั่งยืนให้คนไทยทั้งประเทศ
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั้งหมดของไทยมีประมาณ 200,000 ราย โดนผลกระทบจากโรคระบาดต่าง ๆ ปัจจุบันเหลือเพียง 80,000 ราย ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นรายย่อย ที่เลี้ยงกันในเล้าหลังบ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงตามกำลังเงินทุนที่มีอยู่ และอาจละเลยปัจจัยด้านสุขอนามัยและการป้องกันโรคตามมาตรฐาน เมื่อเกิดโรคระบาดจึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและเกิดความเสียหาย 100%
ผลจากโรคระบาดในครั้งนี้ เกษตรกรรายย่อยแบกภาระหนี้สินกันถ้วนหน้า ร้ายที่สุด คือ “หมดตัว” รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการสนับสนุนแบบเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำถึงต่ำที่สุด การจัดหาแม่พันธุ์ ลูกสุกร อาหารสัตว์ วัคซีนและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพให้เข้าถึงได้ง่าย เพื่อจูงใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเห็นอนาคตที่มั่นคงและกลับเข้าสู่ระบบเร็วที่สุด
นอกจากนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและมาตรการเงินชดเชยกรณีเกิดโรคระบาด ทำให้เกษตรกรต้องทำลายหมูตามมาตรการควบคุมโรค ให้มีเงินทุนหมุนเวียนสามารถเริ่มเลี้ยงใหม่ได้ในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมให้กับเกษตรกรมีองค์ความรู้ด้านโรคระบาดสัตว์และวิธีป้องกันโรคอย่างถูกวิธี แทนการปล่อยให้เกษตรกรรายย่อยไม่มีหลักประกันเช่นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รัฐควรปล่อยให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นไปตามระบบการค้าเสรี ให้ราคาปรับขึ้นลงตามกลไกการตลาดตามอุปสงค์และอุปทาน เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่โดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแลให้อยู่ในกรอบ การควบคุมราคาเป็นเพียงหนึ่งเครื่องมือในการแก้ปัญหาราคาในสถานการณ์ไม่ปกติมีการกักตุนเพื่อเก็งกำไร ซึ่งสถานการณ์หมูแพงในปัจจุบันรัฐบาลรับรู้เป็นอย่างดีว่าเกิดจากการขาดแคลนหมูต่อให้คุมราคาอย่างไรก็ยากที่จะมีปริมาณหมูเพิ่มขึ้นได้ ดีที่สุดขณะนี้ คือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ด้วยการบูรณาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน