ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน มกราคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือน ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา จากระดับ 69.39 จุด มาอยู่ที่ระดับ 69.95 จุด เพิ่มขึ้น 0.56 จุด หรือคิดเป็น 0.80%
โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย การอ่อนค่าของเงินบาท นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ใหม่
ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำระยะสามเดือนในไตรมาสแรกของปี 2565 (ม.ค.–มี.ค.) ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จากระดับ 68.37 จุด มาอยู่ที่ระดับ 70.24 จุด เพิ่มขึ้น 1.87 จุด หรือคิดเป็น 2.47% โดยดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาเนื่องจาก การอ่อนค่าของเงินบาท ภาวะเงินเฟ้อ และความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน มกราคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 306 ตัวอย่าง พบว่า 47% ไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำในเดือนนี้ หรือไม่ ขณะที่ 35% จะซื้อทองคำ และอีก 18% ยังไม่ซื้อทองคำ
สรุปกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 13 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน มกราคม 2565 จะลดลง มีจำนวน 6 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น มีจำนวน 5 ราย ส่วนที่คาดว่าใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ธันวาคม 2564 มีจำนวน 2 ราย
สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน มกราคม 2565 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,755 – 1,852 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 27,850 – 29,150 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ และด้านค่าเงินบาท ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 32.89 – 33.93 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนทองคำในเดือน มกราคม 2565 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า ในช่วงต้นปีสถานการณ์ราคาทองมีปัจจัยลบที่เกี่ยวข้องกับการคาดการณ์ FED จะปรับดอกเบี้ยเร็วขึ้น และปัจจัยบวกเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งนี้ ราคาทองคำมีลักษณะการแกว่งตัวเพื่อรักษาระดับ และสร้างฐานราคา โดยอาจเข้าซื้อเพื่อสะสมเมื่อราคาทองย่อตัว หรือซื้อขายในระยะสั้นตามการเคลื่อนไหวของราคาทอง