สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี 2 พันล. เงื่อนไขอย่างไร กลุ่มไหนได้ เช็คเลย

15 ม.ค. 2565 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 15:52 น.

สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี 2 พันล้านบาท เงื่อนไขอย่างไร กลุ่มไหนได้บ้าง อ่านครบจบที่นี่ SMEs D Bank ขานรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมจัดให้ 3 โครงการ

กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ผ่านมาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ

 

 

 

ประกอบด้วย 3 โครงการสินเชื่อ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ผ่าน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank

 

 

 

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank เปิดเผยว่า สินเชื่อทั้ง 3 โครงการประกอบด้วย 

 

 

1.โครงการสินเชื่อ เพื่อฟื้นฟู SME วงเงิน 500 ล้านบาท 

 

 

  • อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี 
  • วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย 
  • ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี 
  • ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน 
     

เพื่อให้นำไปปรับปรุง ลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือฟื้นฟูกิจการในปัจจุบัน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ภายใต้โครงการ 

 

 

  • สินเชื่อพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 
  • โครงการฟื้นฟูฯ สำหรับ SMEs คนตัวเล็ก และ 3.โครงการสินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน

 

 

 

นารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank

 

 

2.โครงการสินเชื่อเพิ่มศักยภาพ SME วงเงิน 1,000 ล้านบาท 

 

 

  • อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี 
  • วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย 
  • ระยะเวลากู้นานสูงสุด 10 ปี 
  • ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 18 เดือน 

 

 

 

เพื่อให้นำไปปรับปรุง หรือลงทุน เงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง หรือฟื้นฟูกิจการ ทั้งธุรกิจปัจจุบัน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ 
 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิต ให้บริการ ค้าปลีกค้าส่ง หรือผู้ใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ที่ดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 

 

 

  • เกษตรอุตสาหกรรมหรืออาหารแปรรูปที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ 
  • อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานชีวมวล 
  • อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือบริการทางการแพทย์ 
  • กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ 
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

 

 

3.โครงการสินเชื่อ สร้างโอกาส เสริมสภาพคล่อง SME วงเงิน 500 ล้านบาท 

 

 

  • อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี 
  • วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย 
  • ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี 
  • ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน 

 

 

 

นำไปใช้ปรับปรุง เสริมสภาพคล่อง หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายในธุรกิจ  

 

 

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ผลิต ให้บริการ ค้าปลีกหรือค้าส่งใน 8 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้ 

 

 

 

  • กลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง 
  • กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

 

 

 

สำหรับมาตรการดังกล่าวจะสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนประมาณ 500 ราย  

 

 

ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 10,000 ล้านบาท   สามารถรักษาการจ้างงานได้ประมาณ 3,000 ราย  

 

 

โดยจะเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่  17 มกราคม 2565 ถึง 31 พฤษภาคม 2565 หรือจนกว่าวงเงินสินเชื่อจะหมดก่อน