1. สาเหตุเนื้อหมูแพง? : เกิดจากความต้องการซื้อที่มีมากกว่า ปริมาณผลผลิตที่ขายในตลาด ราคาจึงปรับเพิ่มขึ้น เป็นไปตาม "กลไกตลาด"
2. หมูหายเพราะอะไร? : ปัจจุบันไทยมีปริมาณแม่หมูชุน 6.6 แสนตัว ลงลง 60% จากปีก่อน ส่งผลให้หมูขุนเหลือเพียง 14.7 ล้านตัว ลดลง 40% จากความกังวลต่อภาวะโรคในหมู เกษตรกรจึงชะลอการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มกว่า 30-40% รวมทั้งต้นทุนแฝงจากการป้องกันโรคที่สูงถึง 500 บาทต่อตัว
3. โรคหมูร้ายแรงไหม แล้วคนยังกินหมูได้หรือเปล่า? : ASF เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในหมูเท่านั้น ไม่สามารถติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่นได้ จึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และยังไม่มีประวัติผู้ติดเชื้อจากโรคนี้ เรายังสามารถรับประทานเนื้อหมูได้ปกติ แต่เน้นว่าต้องกินหมูปรุงสุกเท่านั้น ด้วยอุณหภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียสขึ้นไปก่อนรับประทาน ห้ามกินสุก ๆดิบ ๆ เพื่อสุขอนามัยของตนเอง ดังนั้นคนกินอย่าตระหนกตกใจกับเรื่องนี้กินหมูได้ปลอดภัยเหมือนเดิม
4. การป้องกันป้องกันโรคที่ดีที่สุดคืออะไร? : การเลี้ยงหมูในฟาร์มระบบปิดที่มีการป้องกันโรคตามมาตรฐานอย่างเข้มงวด คือคำตอบในการป้องกันและลดความเสี่ยงจากโรคนี้ เห็นได้จากฟาร์มที่ใช้ระบบนี้ บวกกับการยกระดับกระบวนการจัดการ ฟาร์ม-จัดการคน จนสามารถรอดพ้นวิกฤติโรคต่าง ๆ มาได้ กลายเป็นโมเดลฟาร์มที่ต้องเดินตาม ซึ่งอนาคตรูปแบบการทำฟาร์มจะต้องก้าวเข้าสู่ฟาร์ม 4.0 แบบนี้ เพื่อมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเพื่อผู้บริโภค
5. แล้วเกษตรกรจะเอาเงินที่ไหนมาลงทุนทำระบบปิด? : รัฐบาลต้องสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยอุ้มเกษตรกร ให้มีทุนรอนในการประกอบอาชีพ มีเงินลงทุนสำหรับการยกระดับฟาร์มสู่มาตรฐานเพื่อคนไทย ถือเป็นมาตรการจูงใจเกษตรกรให้มีความเชื่อมั่น และควรมีการประกันภัยเกษตรกร ทำให้คนเลี้ยงกล้ากลับมาเลี้ยงหมูอีกครั้ง ช่วยเพิ่มซัพพลายหมูเข้าระบบโดยเร็วที่สุด
6. วิกฤติหมูทำให้ฟาร์มเล็ก ๆ หาย ฟาร์มใหญ่ ๆ รอดจริงไหม? : ผลกระทบเกิดกับทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่เล็กถึงใหญ่ เพราะโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษารักษาโดยเฉพาะ ส่วนเกษตรกรรายเล็กที่ต้องเลิกเลี้ยงหมูหรือหยุดเลี้ยงไปก่อน เพราะส่วนใหญ่เลี้ยงหมูฟาร์มเปิดที่ยังไม่ค่อยมีมาตรฐานนัก การป้องกันโรคจึงทำได้ไม่ดีพอ ขณะที่ผู้เลี้ยงรายใหญ่เข้าสู่ระบบฟาร์มปิดที่ได้มาตรฐานฟาร์ม มีการป้องกันโรคที่เข้มงวด จึงมีความเสียหายน้อยกว่า วิกฤตินี้จึงถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทย จะร่วมกันยกระดับฟาร์มเกษตรกรทั่วประเทศให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกัน
7. ควรนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศมาเพิ่มปริมาณดีไหม? : “ไม่ควรอย่างยิ่ง” เพราะเนื้อหมูต่างชาติ เป็นทั้งจุดเสี่ยงที่คนไทยอาจได้รับสารปนเปื้อน รวมทั้งเป็นจุดตายของเกษตรกรหากมีโรคต่างถิ่นปนเปื้อนมา ยิ่งซ้ำเติมกับภาวะที่เป็นอยู่ และเกษตรกรอาจเสี่ยงที่จะล่มสลายจากการที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับเนื้อหมูจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยได้ แต่ถ้าหากจำเป็นต้องจริงๆ ควรเลือกนำเข้าหมูเป็น ที่มาจากฟาร์มปลอดโรคของประเทศเพื่อนบ้าน เพราะใช้ระยะทางและเวลาขนส่งไม่มาก เพื่อรองรับความต้องการของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในระยะสั้น ๆ โดยต้องผ่านการตรวจรับรองจากประเทศไทยก่อนเท่านั้น
8. มาตรการห้ามส่งออกหมูช่วยแก้ปัญหานี้ได้ไหม? : วันนี้หมูในประเทศยังไม่เพียงพอกับการบริโภค ราคาปรับตัวขึ้นตามกลไก แล้วใครจะอยากส่งออก ซึ่งต้องเสียภาษีและค่าขนส่งในการนำไปขายต่างประเทศ
9. ต้นทางฟาร์มหมูไปถึงราคาหน้าเขียง แพงขึ้นเพราะอะไร? : ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้ เกิดจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้น บางฟาร์มต้นทุนพุ่งไปถึง 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว จากภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นต่อเนื่อง การป้องกันโรคที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กว่าหมูหน้าฟาร์มจะผ่านพ่อค้าคนกลาง ผ่านโรงเชือด ไปถึงหน้าเขียง ต้องมีต้นทุนในทุกขั้นตอน ไหนจะค่าขนส่งและค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอีก เท่ากับว่าตลอดกระบวนการมีต้นทุนที่สูงขึ้นทุกอย่าง
10. ภาครัฐไม่ช่วยเกษตรกรเลยหรือ? : ราคาหมูที่ปรับขึ้นเป็นปัญหาทั่วโลก รวมถึงปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ทุกอย่างแพงขึ้นไม่เฉพาะหมูเท่านั้น แนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน รัฐบาลต้องจริงจังในการแก้ปัญหา และต้องทำทันที โดยแก้ที่ต้นเหตุ ดึงเกษตรกรรายย่อยกลับเข้าระบบให้เร็วที่สุด พร้อมสนับสนุนเกษตรกร ส่งเสริมการเลี้ยงฟาร์มมาตรฐาน
วันนี้การเร่งเพิ่มซัพพลายหมูในประเทศให้ได้ คือทางออกของปัญหา และรัฐต้องไม่ลืมหาแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเกษตรกรให้อยู่รอดได้ หากภาครัฐแก้ปัญหาสำเร็จไม่เพียงช่วยให้ราคาหมูกลับสู่สมดุล อุตสาหกรรมเลี้ยงหมูของไทยจะยกระดับขึ้นทั้งประเทศ เป็นโอกาสที่จะเกิดอุตสาหกรรมหมู 4.0 ที่ใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ได้ผลผลิตหมูคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ ปลอดความเสี่ยง และเป็นทางรอดสำหรับเกษตรกรและทางออกสำหรับผู้บริโภคอย่างแท้จริง