นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีข้อร้องเรียนจากประชาชน บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 หรือถนนเลียบทางรถไฟช่วงดอนเมือง-หลักสี่ ใต้แนวรถไฟฟ้าสายสีแดง มีปัญหาลูกคลื่น ทำให้ประชาชนที่สัญจรบนถนนเส้นดังกล่าวเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ นั้น เบื้องต้นรฟท.ได้สั่งการให้ บมจ. อิตาเลียนไทย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต) เร่งซ่อมแซมปัญหาลูกคลื่นบนพื้นผิวถนนกำแพงเพชร 6 ทั้งนี้การดำเนินการซ่อมแซมถนนฯ อยู่ในช่วงการประกันความชำรุดบกพร่องของการก่อสร้าง จึงไม่ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมเพิ่มแต่อย่างใด
สำหรับแผนซ่อมแซมการปรับปรุงในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะเร่งด่วน ได้ให้ บมจ.อิตาเลียนไทย เร่งเข้าซ่อมแซมผิวจราจรที่ปูดนูนและลักษณะเป็นลูกคลื่นในจุดที่ 1 เริ่มวันที่ 25 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยจะมีการขอปิดการจราจรบริเวณดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งการรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางในระหว่างการดำเนินการ และเมื่อแล้วเสร็จในจุดที่ 1 จะทยอยซ่อมแซมในจุดที่ 2-4 โดยคาดจะใช้เวลาดำเนินการได้ครบทุกจุดประมาณ2 เดือน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จุดที่ 1 จากบริเวณช่วงสะพานรถยนต์ กม.22+642 จนถึงแยกนายใช้กม.23+800 ตลอด 4 ช่องจราจร ความยาว 1.158 กิโลเมตร โดยจะมีการปิดการจราจรบริเวณดังกล่าวทั้งหมด พร้อมกับทำการรื้อผิว แอสฟัลต์ (Asphalt) ออก และทำการปรับชั้นทางตลอดแนวให้เรียบเสมอกันก่อนจะคืนผิว แอสฟัลติก (Asphaltic) เพื่อให้สภาพถนนเรียบและสัญจรได้อย่างปลอดภัย
จุดที่ 2 จากบริเวณช่วงสน.ดอนเมืองจนถึงแยกนายใช้ จะซ่อมแซมผิวจราจรตามช่องจราจรเฉพาะจุดที่ปูดนูน เป็นลูกคลื่นให้เรียบและเปิดผิวจราจร Asphalt และช่องจราจรที่ติดติดกับเกาะกลางแบริเออร์ ที่มีผิวจราจรทรุดตัว ฝั่งสน.ดอนเมือง 1 ช่องจราจร เพื่อทำการปรับชั้นทางตลอดแนวเกาะกลาง
จุดที่ 3 บริเวณใต้สถานีดอนเมืองตลอดแนว จะซ่อมแซมผิวจราจรตามช่องจราจรเฉพาะจุดที่ปูดนูนและเป็นลูกคลื่น ให้เรียบตลอดแนวและเปิดผิวจราจร Asphalt ด้านที่ติดกับเกาะกลางฝั่งสน.ดอนเมือง 1 ช่องจราจร เพื่อทำการปรับชั้นทางตลอดแนวเกาะกลาง
จุดที่ 4 จากสถานีการเคหะถึงหน้าสำนักงานเขตดอนเมือง จะซ่อมแซมผิวจราจรตามช่องจราจรตลอดแนวทั้ง 4 ช่องจราจรข้าเข้า-ขาออก โดยจะซ่อมแซมเฉพาะจุดที่ปูดนูนให้เรียบ
ที่ผ่านมาได้มีการติดตามดูแลซ่อมแซมถนนเลียบทางรถไฟ เพื่อให้ประชาชนสัญจรไป เข้าถึงการใช้บริการรถไฟฟ้าในทุกสถานี ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ดังนั้น กรณีที่ระบุว่ามีการร้องเรียนปัญหามาตั้งแต่ปี 2563 และไม่ได้รับการแก้ไขนั้น จึงไม่เป็นความจริง เพราะตลอดปี 2563 การรถไฟฯ ให้ผู้รับจ้างเข้าไปซ่อมแซมเส้นทางโดยเฉพาะที่บริเวณดอนเมือง ได้ซ่อมแซมไปแล้วถึง 3 ครั้ง และปี 2564 อีกจำนวน 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม รฟท.จะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาและปรับปรุงถนน รวมทั้งมีนโยบายที่จะส่งมอบถนนให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เป็นผู้ดูแลรับมอบจากการรถไฟฯ นำไปปรับปรุงแก้ไขตามแนวทางหลักเทคนิควิศวกรรรม เนื่องจากการรถไฟไม่มีภารกิจและความเชี่ยวชาญด้านถนน จึงจำเป็นต้องดำเนินการส่งมอบให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแลให้แทนต่อไป