จากกระแสดราม่าส่งท้ายปี 2564 หลังประชาชนคัดค้านปิดสถานีหัวลำโพง เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงคมนาคมมีแผนจะนำพื้นที่สถานีหัวลำโพงอัพเกรดเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 120 ไร่ เพื่อหารายได้ให้รฟท.ปลดหนี้กว่า 6 แสนล้านบาทตามที่กระทรวงคมนาคมเคยกล่าวไว้นั้น สร้างความไม่พอใจกับประชาชนที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ไม่เพียงเท่านั้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สหภาพรถไฟ) ยังเปิดล่ารายชื่อการคัดค้านปิดสถานีหัวลำโพงและงดขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานี ซึ่งพบว่ามีผู้เข้าร่วมแคมเปญการคัดค้านถึง 30,000 ราย เป็นเหตุให้กระทรวงคมนาคมและรฟท.จนต้องถอยทัพออกไป เพราะทนกระแสต้านจากประชาชนไม่ไหว โดยจัดประชุมเพื่อหาทางออกให้ชัดเจนอย่างเร่งด่วน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา
อีกทั้งรฟท.ได้รับคำสั่งจากกระทรวงคมนาคมวิ่งเต้นจนต้องแถลงการณ์แต่เช้าถึงแผนการปิดสถานีหัวลำโพง-งดขบวนรถไฟทางไกลเข้าสถานี เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.64 หลังจากเข้าร่วมประชุมกับกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรฟท.ชี้แจงว่าจะไม่มีการปิดสถานีหัวลำโพง เพียงแค่ลดบทบาทสถานีเท่านั้น อีกทั้งยังเปิดให้รถไฟทางไกลสามารถเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงได้ตามปกติ เบื้องต้นจะดำเนินการจัดทำเช็คลิสต์ เพื่อกำหนดแนวทางการให้บริการเปลี่ยนถ่ายสถานีไปยังสถานีกลางบางซื่อ และการปรับแผนการเดินรถ รวมทั้งการเดินรถไฟเชิงพาณิชย์และรถไฟเชิงสังคมบนเส้นทางรถไฟสายสีแดง ช่วงรังสิต-สถานีกลางบางซื่อ ที่จะไม่เดินรถระดับดิน เพื่อให้มีการบริการต่างๆครอบคลุมทุกมิติ โดยใช้ระยะเวลา ดำเนินการแล้วเสร็จภายในมกราคม 2565 หลังจากนั้นจะและจัดทำแอคชั่นแพลน เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาต่อไป
ล่าสุดพบว่ารฟท.จัดงานสถานีหัวลำโพง (Hua Lamphong in Your Eyes) โดยเชิญชวนประชาชนเติมเต็มภาพความสุขและแบ่งปันมุมมองควบคู่กับการเรียนรู้ 10 จุด ประวัติศาสตร์ของสถานีหัวลำโพง ทั้งนี้ในงานจะมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดแสดงรถจักรไอน้ำ การแสดงดนตรีสด พร้อมชมนิทรรศการภาพถ่าย ภายใต้หัวข้อ Hua Lamphong Through the lens พร้อมรับของที่ระลึกต่างๆมากมาย ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.64-16 ม.ค.65
สำหรับ 10 จุด เช็คอินประวัติศาสตร์สถานีหัวลำโพง ดังนี้ 1.อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง เป็นจุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีตรึงหมุดรางทอง รางเงิน ติดกับไม้หมอนมะริดคาดเงิน และเปิดการเดินรถไฟหลวงในราชอาณาจักรสายแรก เส้นทางสถานีกรุงเทพ-อยุธยา 2.สะพานลำเลียงจดหมาย เชื่อมต่ออาคารไปรษณีย์ตั้งอยู่ปลายชานชาลาที่ 4 ของสถานีกรุงเทพ 3.ลานน้ำพุหัวช้าง ซึ่งเคยเป็นหลุมหลบภัยทางอากาศ 4.ป้ายด้านหน้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตรงด้านหน้าของสถานีจะมีตัวอักษรปูนปั้นว่า สถานีกรุงเทพ ติดอยู่ที่ด้านบนโถงระเบียงทางเข้าด้านหน้าอาคารสถานีจุดเริ่มต้นการเดินทาง 5.สถาปัตยกรรมภายนอกสถานีกรุงเทพ ตัวอาคารเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรอเนสซองส์ 6.ระเบียงด้านหน้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) สวยงามด้วยกระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่เท่า ๆ กับตัวอาคารสถานีที่เน้นลักษณะภายนอกของมนุษย์และธรรมชาติ
7.โถงกลางสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บรรยากาศร่วมสมัย แบบสไตล์ตะวันตก งดงามด้วยการตกแต่งภายในสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานศิลปะแบบคลาสสิก (Classicism) ด้วยการใช้เสาคู่ลอยตัวระเบียงไอโอนิก (Ionic) การตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น และศิลปะแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) 8.โรงแรมราชธานี อดีตโรงแรมหรูที่เคยอยู่คู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 9.เก้าอี้วงรี สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟ เก้าอี้รูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่ง ตัวหมวกเป็นพนักพิง 10.รถจักรไอน้ำแปซิฟิก รุ่นเลขที่ 824, 850 เป็นรถจักรไอน้ำที่ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันนี้นำมาใช้งานในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2492 โดยใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงต่อมาได้ดัดแปลงให้ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงแทนในปี พ.ศ.2514 ปัจจุบันการรถไฟฯ ใช้ทำเป็นขบวนรถนำเที่ยวในโอกาสพิเศษที่สำคัญๆ ปีละ 6 ครั้ง และขบวนรถพิเศษ Prestige ที่จัดขบวนมาให้เยี่ยมชมกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าบรรยากาศภายในงานสถานีหัวลำโพงนั้นพบว่ามีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจและร่วมลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคักอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าสถานีหัวลำโพงถือเป็นสถานที่ที่มีเรื่องเล่าไม่รู้จบ รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และการเดินทาง ซึ่งมีความสำคัญกับประชาชนไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นจุดแลนด์มาร์คแห่งนึงที่นักท่องเที่ยวต้องการมาสัมผัสบรรยากาศที่มีความคลาสสิคน่าหลงใหลแห่งนี้
หากในอนาคตไม่มีสถานีหัวลำโพงและมีการลดบทบาทสถานีหัวลำโพงลง คงทำให้ประชาชนรู้สึกใจหายไม่น้อย อีกทั้งหากไม่มีการเดินรถไฟทางไกลเข้าสถานีแล้ว การเดินทางของประชาชนจะเป็นอย่างไรบ้าง งานนี้รฟท.รับศึกหนักและต้องทำการบ้านให้ดีว่าจะเดินหน้าอย่างไร ไม่ใช่มุ่งเน้นแค่พัฒนาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้-ล้างหนี้ให้กับองค์กรเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก รฟท.สามารถพัฒนาสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางคมนาคมในอนาคตได้ แต่ต้องไม่ลืมศูนย์กลางคมนาคมในอดีตอย่างสถานีหัวลำโพงด้วย
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่รฟท.จัดงานสถานีหัวลำโพงอย่างเป็นทางการในช่วงนี้ น่าเสียดายที่เราอาจจะไม่ได้เห็นภาพบรรยากาศเหล่านี้อีกแล้วหรือการจัดงานสถานีหัวลำโพงของรฟท.ในครั้งนี้จะเป็นการอำลาสถานีหัวลำโพงไปตลอดกาล