หลังจากที่สินค้าและบริการต่างดาหน้าปรับราคาขึ้นกันยกแผงทั้งที่ปรับราคาขึ้นไปแล้ว และกำลังจะปรับราคาหรือแอบปรับราคาแบบเงียบ ไม่ว่าจะเป็น หมู ไก่ ไข่ น้ำอัดลม น้ำมันปาล์ม ซีอิ้วขาว ก๊าชหุงต้ม เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ในขณะที่รายได้ยังเท่าเดิม ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เองต้องรีบออกมาตรการเข้มในการห้ามปรับราคา โดยหมูห้ามส่งออก 6 เดือน ตรึงราคาไข่ไก่จนกว่าสถานการณ์จะคลีคลาย ห้ามน้ำอัดลมปรับราคา เป็นต้น ซึ่งก็ช่วยบรรเทาความเดือนร้อนได้เพียงเล็กน้อย
และล่าสุด กรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 2/2565ได้มี มติ กำหนดให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม และให้ความเห็นชอบ กำหนดมาตรการให้ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน แจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน นอกจากนั้นยังมีมติให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 55 โรง แจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต๊อก รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ การปรับราคาต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน
ซึ่งหากผู้ประกอบการฝ่าฝืน แน่นอนว่า ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ หากพบการกระทำผิดจริง จะมีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศใช้ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา กำหนดสินค้าและบริการที่ต้องควบคุมราคาทั้งสิ้น 51 รายการ ดังนี้
และล่าสุดมีกกร.มีมติ กำหนดให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม อีก1 รายการ โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้กรมการค้าภายในมีการกำหนดมาตรการการกำกับดูแลสินค้าและบริการเสริมขึ้นอีกด้วย โดยแบ่งระดับเป็น 3 สี มาตรการดังกล่าวจะกำหนดไว้เป็นประจำทุกเดือน ประกอบด้วย สีแดง (Sensitive List : SL) เป็นสินค้าและบริการที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ติดตามราคาและภาวะทั้งในประเทศ และต่างประเทศเป็นประจำทุกวัน พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบและปฏิบัติการตรวจสอบราคาจำหน่ายเข้มงวดและต่อเนื่อง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และหากเกิดภาวะวิกฤตอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ทั้งการกำหนดสินค้าและบริการควบคุมเพิ่มเติม, ควบคุมราคาขาย เช่น เนื้อหมูชำแหละ, ไก่สด, หน้ากากอนามัย, ชุด ATK, แอลกอฮอล์ล้างมือ, ยาฟ้าทะลายโจร, น้ำมันพืช, ข้าวสาร, น้ำมันดีเซล เป็นต้น
สีเหลือง (Priority Watch List : PWL) เป็นสินค้าและบริการที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยให้เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบและปฏิบัติการ ตรวจสอบราคาจำหน่ายและหากเกิดภาวะวิกฤตอาจกำหนดมาตรการเพิ่มเติม เช่น สบู่, น้ำยาล้างจาน, อาหารปรุงสำเร็จ, นมผง, กระดาษชำระ, บริการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นต้น
สีเขียว (Watch List : WL) เป็นสินค้าและบริการที่ต้องติดตามภาวะราคาและสถานการณ์สินค้าและบริการเป็นประจำทุก 15 วัน รวมทั้งตรวจสอบและกำกับดูแลมิให้มีการฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้บริโภคโดยสำนักตรวจสอบและปฏิบัติการ เช่น น้ำอัดลม, ไข่ไก่, ไข่เป็ด, ค่าชมภาพยนตร์-กีฬา, ตัดผมชายหญิง, เสริมสวย, กวดวิชา, รักษาสัตว์ เป็นต้น