นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กรกอ.) และประธานคณะทำงานจัดทำแผนแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ เปิดเผยวันนี้(21ม.ค.65) ว่า
ในวันพฤหัสบดีสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปหนองคาย-อุดรฯ เพื่อหารือกับผู้ประกอบการ “ไทย-ลาว-จีน”ด้านโลจิสติกส์เพื่อร่วมมือกันในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรเช่นข้าว ยางพารา ผัก ผลไม้ กล้วยไม้ สินค้าประมงและสินค้าปศุสัตว์บนเส้นทางรถไฟลาว-จีนสำหรับฤดูกาลผลิตปี2565ตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีทางด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหารและโครงการโลจิสติกส์ปาร์คตลอดจนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไนโตรเจนฟรีสเซอร์ และระบบตรวจสอบย้อนกลับเพื่อการส่งออก
“ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวสาร จำนวน 20 ตู้ ปริมาณ 500 ตันโดยใช้เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวโดยมีจุดหมายปลายทางที่มหานครฉงชิ่ง ( Chongqing ) ในภาคตะวันตกของจีนเป็น Shipment แรก ซึ่งสามารถผ่านการตรวจตราและออกใบรับรองจากด่านตรวจพืชที่หนองคายขนส่งถึงท่าบกท่านา และผ่านการเห็นชอบของด่านศุลกากรลาวแล้วรอขบวนรถขนส่งสินค้าเพื่อเดินทางออกจากสถานีเวียงจันทน์ใต้ไปมหานครฉงชิ่ง
ก่อนหน้านี้ได้รับรายงานคลาดเคลื่อนจากหน่วยงานว่า ขนส่งไปฉงชิ่งแล้ว รวมทั้งจำนวนน้ำหนักซึ่งได้ช่วยประสานงานกับทางลาว และได้รับความร่วมมืออย่างดี ในการอนุมัติผ่านด่านศุลกากร และกระทรวงเกษตรของลาว เมื่อขบวนรถไฟขนส่งมาถึงก็พร้อมออกเดินทางได้ทันที”
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การขนส่งระบบรางเป็นระบบใหม่จากไทยผ่านแดนลาว เพื่อขยายโอกาสทางการค้าภายใต้การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ภาคเกษตรกร และภาคเอกชน ตามนโยบายการพัฒนาโลจิสติกส์เกษตร และยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตเพื่อการส่งออกของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้ง2ท่านได้ดำเนินการเจรจากับทางการจีนและลาว ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการตลอดมา
โดยเฉพาะในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความร่วมมือของทุกฝ่าย จึงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคมาได้และถอดบทเรียนปัญหามาสู่การขับเคลื่อนไปข้างหน้าร่วมกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ภาคอีสานจะเปลี่ยนไปภายใต้ยุทธศาสตร์อีสานเกตเวย์ (ESAN Gateway) เชื่อมไทย-เชื่อมโลก อีสานไม่เพียงเป็นประตูโลจิสติกส์การค้าหน้าด่าน แต่จะเป็นฐานใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตรอาหารในการผลิตเกษตรมูลค่าสูง ตามโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารของกรกอ. ทั้งกลุ่มอีสานเหนือ อีสานกลาง และอีสานใต้ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการและประเทศโดยรวม