น้ำมันรั่วมาบตาพุด กนอ.รุดลงพื้นที่เร่งตรวจสอบ-เตรียมรับเหตุฉุกเฉิน

26 ม.ค. 2565 | 10:06 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 17:11 น.

น้ำมันรั่วมาบตาพุด! กนอ.รุดลงพื้นที่เร่งตรวจสอบพร้อมเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ เล็งดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมคิดและวางแผนดูแลและซ่อมบำรุงรักษา ป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำในอนาคต

จากกรณีที่กรมควบคุมมลพิษ ได้รับแจ้งจากบริษัท สตาร์ปิโตรเลี่ยม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) ว่าได้เกิดเหตุน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ซึ่งเป็นของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง รั่วไหลลงทะเลจำนวน 400,000 ลิตร

 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน)

 

 

ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 มราคม 65 และเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนนั้น

 

 

ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป
 

“ได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกรณีเกิดกระแสลมหรือคลื่นเปลี่ยนทิศไว้ล่วงหน้าด้วย ที่สำคัญ ต้องรีบจัดการกับคราบน้ำมันดังกล่าวให้เร็วที่สุด พร้อมหาสาเหตุของการรั่วไหล” 

 

 

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ได้ดำเนินการเร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที โดยได้รับรายงานประมาณการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือคิดเป็น 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ขณะที่เรือมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน 

 

 

ผู้ว่า กนอ. ลงพื้นที่เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล

 

 

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมพื้นที่ที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งได้มีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) โดยจุดเกิดเหตุนั้นห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก

“กนอ. ได้หาสาเหตุของการรั่วไหลโดยเบื้องต้น พบว่าท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนการดำเนินงานของทางบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง"

 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะมีการขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงอายุการใช้งานของท่อว่ามีอายุการใช้งานเท่าไหร่ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนให้มีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวางแนวทางให้เข้มงวดมากขึ้น

 

 

หรือให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดและวางแผนในการดูแลและบำรุงรักษาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตนจะรายงานให้นายสุริยะทราบเป็นระยะๆ 

 

 

ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุทางบริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทันที โดยหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป