สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ในปี 2564 ปรับตัวสูงขึ้น 20-25% และยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าด้านปศุสัตว์ เฉพาะอย่างยิ่งไก่ เป็ด หมูโดยตรง เนื่องจากอาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60-70% ของการเลี้ยง
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ประกอบด้วย 2 ส่วน 1. สถานการณ์ราคาวัตถุดิบในตลาดโลก รวมถึงค่าบริหารและขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.นโยบายภาครัฐที่ต้องการดูแลราคาพืชอาหารสัตว์ในประเทศ โดยมีการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่บิดเบือนกลไกตลาด
อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีของรัฐบาลโดยผู้ประกอบการจะต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน แลกกับสิทธิในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน การจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงมาตรการด้านภาษี อาทิ ภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ซึ่งถือเป็นอุปสรรคและภาระต้นทุนแก่ธุรกิจอาหารสัตว์ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนเป็นอย่างมาก
ดังนั้นทางสมาคม จึงขอเสนอ 3 แนวทาง เพื่อผ่อนคลายภาระต้นทุนอาหารสัตว์จากมาตรการรัฐ ดังนี้ 1.ยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% 2.ยกเลิกมาตรการการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 3. ให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ตลอดทั้งปี จากปัจจุบันกำหนดช่วงเวลานำเข้าของแต่ละปีช่วงวันที่ 1 ก.พ.-31 ส.ค. และให้ยกเลิกโควตา ภาษี และค่าธรรมเนียม ในปริมาณที่ขาดแคลนในปี 2565
การยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% เป็นข้อเสนอที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้เร็วที่สุด และสมาคมยินดีที่จะตรึงราคาอาหารสัตว์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% แล้ว ทั้งนี้แนวทางข้างต้นกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่จะให้ลดราคาอาหารสัตว์ ไม่สามารถลดได้ เนื่องจากแนวโน้มราคาวัตถุดิบในไตรมาสแรกของปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ประมาณ 5-10% (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้สมาคมหวังว่าราคาวัตถุดิบจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นอีกอย่างที่คาดการณ์ไว้
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวว่า หากพิจารณาสถิติย้อนหลัง ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบนำเข้าจากอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ ราคาเป็นไปตามตลาดโลก ต้นทุนสูงในอดีตก็เคยมี ต้นทุนอาหารสัตว์แพงจริง แต่ไม่ใช่เป็นประเด็นหลักที่ทำให้ราคาหมูแพง อย่างไรก็ดีในส่วนของน้ำมันถั่วเหลืองบรรจุขวดที่ขายอยู่ตามตลาดและห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ
ถือเป็นการสร้างสมดุลเวลาน้ำมันพืชชนิดอื่นมีปัญหาราคาสูง เป็นตัวช่วยหนึ่งที่สามารถเสริมเข้าไปในตลาดได้ เช่น ในร้านอาหารต่าง ๆ อย่างไรก็ดีหากมีการปรับลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ก็ยังกระทบผู้บริโภค เพราะเวลานี้ราคาถั่วเหลืองทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก
“น้ำมันถั่วเหลืองในไทยขณะนี้ขวดลิตรละไม่ถึง 60 บาท ส่วนประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย และเวียดนาม ลาว เมียนมา ขวดละ 80-100 บาท ไทยยังถือว่าถูกกว่า”
เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ประเทศไทยใช้เมล็ดถั่วเหลืองประมาณ 4 ล้านตันต่อปี (สัดส่วน 70% ใช้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองเพื่อบริโภค) ขณะที่ผลิตได้ในประเทศไม่ถึง 1% แต่ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาผลิตน้ำมัน ผลิตอาหารมนุษย์ หรือผลิตเป็นอาหารสัตว์ จะต้องซื้อถั่วเหลืองในประเทศให้หมดก่อนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
ส่วนที่เหลือเป็นกากถั่วเหลือง ซึ่งเป็นบายโปรดักส์ของอุตสาหกรรมน้ำมันถั่วเหลืองและบางส่วนจะมีการนำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ประเด็นที่กังวลคือ เมื่อขอความร่วมมือให้ซื้อถั่วเหลืองในประเทศ และหากลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลืองแล้ว อุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งเป็นผู้ซื้อถั่วเหลืองหลักจะปฎิเสธการรับซื้อในประเทศ แล้วจะผลักภาระไปที่น้ำมันขวด จะกระทบกับผู้บริโภคในภาพรวม
ด้านนายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า หากทำตามเงื่อนไขของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ด่านแรกจะกระทบคือ ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองโดยตรง เพราะจะทำให้ราคากากถั่วเหลืองในประเทศตกต่ำ ประชาชนอาจต้องบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองราคา 80 บาทต่อขวด
ส่วนการขอนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดทั้งปี ไม่จำกัดช่วงเวลา มองว่าเป็นเกมต่อรอง ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติขอคัดค้านถ้านำเข้ามาจริงเกษตรกรจะลงถนนแน่นอน เพราะวันนี้มีข้าวโพดบดนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้อนุญาต แต่เมื่อนำเข้ามาแล้วกลับไม่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมแป้งข้าวโพด ตามที่ขอ แต่นำเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารสัตว์โดยตรง ส่งผลกระทบกับเกษตรกร
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3752 วันที่ 27 – 29 มกราคม 2565