ปี 2564 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย คาดการณ์ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ 8.38 ล้านตัน หรือประมาณ 6.98 แสนตันต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีความต้องการใช้ 8.34 ล้านตัน หรือ 6.95 แสนตันต่อเดือน สอดคล้องกับข้อมูลของกรมปศุสัตว์ถึงความต้องการใช้คาดอยู่ระหว่าง 8.10-9.41 ล้านตัน หรือ เดือนละ 6.8-7.8 แสนตัน
ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศลดลงจากปีที่แล้วจากประสบปัญหาผลผลิตเสียหายจากนอนกระทู้ ทำให้มีต้นทุนในการพ่นยากำจัดเพิ่มขึ้นและเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีราคาสูง เกษตรกรส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปปลูกอ้อย และมันสำปะหลังที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า และบางส่วนก็หันไปปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรังที่มีต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวต่ำกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ประธานคณะกรรมการด้านพืชไร่ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการฯหลายวาระเพื่อขอความเห็นชอบ ซึ่งหนึ่งในวาระสำคัญสภาเกษตรกรฯ ขอให้ตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดบดจากประเทศเพื่อนบ้านของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ในพิกัดอาหารของมนุษย์
ตั้งข้อสังเกตว่ามีโรงงานอาหารสัตว์ที่สกัดแป้งข้าวโพดด้วยในประเทศไทยไม่เกิน 10 โรง แต่มีปริมาณนำเข้าถึง 3 หมื่นตัน เป็นตัวเลขจากกรมศุลกากร แต่เงื่อนไขการนำเข้าเพื่อใช้เป็นอาหารมนุษย์ ประเทศต้นทางต้องออกใบรับรองให้ โดยผู้ที่อนุญาตให้นำเข้าคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่นำเข้ามาในรูปพิกัดอาหาร ทั้งนี้มีข้อสงสัยว่าทางภาครัฐได้มีการตรวจสอบเรื่องคุณภาพสินค้า และมีการตรวจใบรับรองจากประเทศต้นทางหรือไม่ เฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการนำเข้าทางฝั่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
“ทางสภาเกษตรฯ ได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายใน เพื่อให้ตรวจสต๊อกวัตถุดิบโรงงานอาหารสัตว์ว่าใช้ข้าวโพดจากเกษตรกรผลิตจริงหรือไม่ รวมถึงได้แจ้งให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้รับทราบ จากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสินค้าควบคุมนำเข้าได้ตั้งแต่เดือนกันยายนถึงสิงหาคม"
แต่ข้าวโพดบดเข้ามาหลังสิงหาคม เพื่อให้ตรวจสอบว่าถูกนำมาใช้เพื่อผลิตอาหารมนุษย์จริงหรือไม่ เพราะการบรรทุกใส่เป็นเบ้าท์มาเกรงว่าจะมีการปนเปื้อนสูง ขณะที่ในเมืองไทยที่มีการผลิตจริงยังมีการคัดเกรดข้าวโพดพิถีพิถันมาก จึงตั้งข้อสังเกตไม่แน่ใจจะมาใช้ผลิตเป็นอาหารมนุษย์ หรือใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์
นายเติมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลผลิตข้าวโพดในประเทศในเวลานี้มีเพียงพอสำหรับการผลิตแป้งข้าวโพดอยู่แล้ว ซึ่งไม่น่ามีปัญหาเพราะข้าวโพดเกรดสวยจะส่งให้กับโรงงานแป้ง แต่ทำไมถึงนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งนี้หากคุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐานในการผลิตเป็นแป้งข้าวโพด จะถูกตีตกไปสู่เส้นทางอาหารสัตว์ จะเป็นการเปลี่ยนพิกัด จากเดิมที่แจ้งกรมศุลกากรว่าจะใช้ผลิตเป็นอาหารมนุษย์ แต่ท้ายสุดเข้าสู่อาหารสัตว์ จะถือว่าเป็นการแจ้งสำแดงเท็จหรือไม่
“เรื่องดังกล่าวนี้มาจาก นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชัยภูมิ เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ได้มีการอภิปรายถามในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ( 11 พ.ย.64) ว่า มีโรงงานอาหารสัตว์หลายแห่งเล่นแร่แปรธาตุได้มีการนำเครื่องโม่ข้าวโพดไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วไปซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศนั้นๆ โม่เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำเข้ามาใช้ในประเทศเพื่อเลี่ยงบาลี จึงได้เสนอไปยังกรมการค้าต่างประเทศ ได้เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3737 วันที่ 5-8 ธันวาคม 2564