ข้อมูลชีวภาพ ตามกฎหมาย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีอะไรบ้าง

28 ม.ค. 2565 | 08:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 15:39 น.

เปิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้ความสำคัญกับ ข้อมูลชีวภาพ 2 ประเภท ตามกฎหมาย PDPA มีอะไรบ้าง อ่านรายละเอียดได้ที่นี่

กฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน ภายหลังจากที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 ได้ถูกเลื่อนให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.65 เราทุกคนจึงต้องทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับตนเองเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จริง

 

ในกฎหมาย PDPA ของไทยฉบับนี้มีสาระสำคัญหลายประการในเรื่องของการคุ้มครองและให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับบุคคลหรือนิติบุคคลในการเก็บข้อมูล

 

รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล เลยไปถึงการใช้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามมีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครองด้วย  

สำหรับ "ข้อมูลส่วนบุคคล" นั้น หมายถึง ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ได้แก่ ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ อีเมล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน รูปถ่าย ประวัติการทำงาน และอายุ เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ยังมี ข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน หรือ Personal Data Sensitive ได้แก่ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา หรือ ปรัชญา เช่น บันทึกการลาบวช ของพนักงาน พฤติกรรมทางเพศ 

 

ประวัติอาชญากรรม สุขภาพ ความพิการ สหภาพแรงงาน พันธุกรรมชีวภาพ ข้อมูลสุขภาพ เช่น ใบรับรองแพทย์ หรือข้อมูลอื่นใดที่กระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะประกาศกำหนด

 

นอกจากนี้ข้อมูลส่วนบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่กฎหมายฉบับนี้คุ้มครองและให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้วย นั่นก็คือ ข้อมูลชีวภาพ ซึ่งตามกฎหมาย PDPA มาตรา 26 วรรคสอง ระบุไว้ว่า

ข้อมูลชีวภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคลประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจากการใช้เทคนิกหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการนำ "ลักษณะเด่นทางกายภาพ หรือ ทางพฤติกรรม" ของบุคคลมาใช้ (เป็นอัตลักษณ์ของบุคคล) ที่ทำให้สามารถยืนยันตัวตนของบุคคลนั้นที่ไม่เหมือนกับบุคคลอื่นได้

 

แล้วมีอะไรที่เข้าข่ายเป็น "ข้อมูลชีวภาพ" บ้าง ไปดูกัน 

 

ตามนิยามความหมายของกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยฉบับนี้ จำแนกข้อมูลชีวภาพออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

1.ทางกายภาพ

  • ข้อมูลภาพจำลอง
  • ข้อมูลจำลองม่านตา
  • ข้อมูลจำลองลายนิ้วมือ
  • การจดจำเสียง  

 

2.ทางพฤติกรรม

  • การวิเคราะห์ลายมือชื่อ
  • การวิเคราะห์การเดิน
  • การวิเคราะห์การกดแป้นพิมพ์อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

 

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลชนิดนี้มีความสำคัญในสภาพแวดล้อมเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันเนื่องจากผู้ให้บริการหลายประเภทนำมาใช้หรือกำหนดให้เป็นเงื่อนไขการเข้าใช้บริการ รวมถึงการยืนยันหรือระบุตัวบุคคล ที่ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ กฎหมาย PDPA จึงให้ความสำคัญในการคุ้มครองข้อมูลชีวภาพของบุคคลเอาไว้ด้วย 

 

ที่มา: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม