นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (26 ม.ค.65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 55,184 ล้าน ลบ.ม. (73% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 31,254 ล้าน ลบ.ม. (60% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 9,788 ล้าน ลบ.ม. (44%) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน (26 ม.ค. 65) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 13,219 ล้าน ลบ.ม. (53% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ปริมาณน้ำใช้การได้ 6,523 ล้าน ลบ.ม. (36% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,521 ล้าน ลบ.ม. (44%)
สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 5.36 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83.61 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.63 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 129.03 ของแผนฯ
ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำด้วยการหมุนเวียนน้ำในพื้นที่ให้ทั่วถึง เพื่อไม่ให้พื้นที่ที่เพาะปลูกแล้วเกิดความเสียหาย
ด้านการเพาะปลูกพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้ควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 64/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงแล้งนี้