นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์สถานการณ์การค้าของไทยกับซาอุดิอาระเบีย หากมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน จากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจดดาห์ ระบุว่า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดิอาระเบีย พระองค์เป็นมกุฎราชกุมารและเป็นว่าที่กษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบียองค์ต่อไป
ทั้งยังเป็นผู้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 ที่ใช้ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีประเทศไทย มีโอกาสเข้าเฝ้าหารือกับเจ้าชายนั้น ทำให้เป็นโอกาสที่ซาอุดิอาระเบียจะฟื้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในหลายด้าน เช่น การผ่อนปรนการเข้าออกประเทศ การผ่อนปรนมาตรการทางการค้า การสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น การร่วมลงทุนและการนำแรงงานฝีมือจากประเทศไทยเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบีย
โดยจากการฟื้นความสัมพันธ์ข้างต้น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดทำแผนงานและกิจกรรมตามนโยบายของนายจุรินทร์ ที่จะดำเนินการเร่งด่วนรวม 7 กิจกรรม ได้แก่ 1.การจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเปิดกว้างทางวัฒนธรรมของซาอุฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 2.การจัดคณะผู้แทนการค้านักธุรกิจทั้งจากไทยไปซาอุฯ และจากซาอุฯ มาเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายระหว่างกัน
3.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุฯ เช่น ข้าว อาหารฮาลาล และผลไม้ เป็นต้น เพื่อให้สินค้าได้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น 4.การเชิญผู้ประกอบการไทยร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุฯ เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าฮาลาล Saudi Food Expo 5.การประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารสินค้าฮาลาล ผ่านช่องทางออนไลน์ 6.การเชิญผู้นำจากซาอุร่วมเจรจาการค้าผ่านออนไลน์ Online business Matching 7.การเชิญผู้นำจากประเทศซาอุฯ ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติของไทย ทั้งรูปแบบปกติ หรือรูปแบบไฮบริด และรูปแบบออนไลน์ซึ่งทั้ง 7 แผนงานนี้จะมีขึ้นในปี 2565
“ที่ผ่านมา ตลาดซาอุดิอาระเบีย ถือเป็นตลาดการค้าที่มีโอกาสเติบโต ซึ่งนายจุรินทร์ได้โฟกัสตลาดนี้มาตั้งแต่ต้น ตามนโยบายการฟื้นฟูตลาดดั้งเดิม เพราะนอกจากการค้าขายกับซาอุฯ แล้ว ยังเป็นประตูการค้านำสู่อีกหลายประเทศในภูมิภาค และนโยบายใหม่ของซาอุฯ เขาต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเพิ่มภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ ภาคการร่วมลงทุน ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าและกำลังการผลิตจำนวนมาก นั่นจึงเป็นโอกาสของไทย”
นอกจากนี้ ยังพบว่า ซาอุดิอาระเบีย ยังมีความต้องการความเชี่ยวชาญการลงทุนจากไทย ในด้านการทำฟาร์มและเน้นเลี้ยงกุ้ง ปลา ไก่ การทำธุรกิจโรงพยาบาล โรงแรม ร้านอาหาร กิจการแฟรนไชส์ ขณะเดียวกันนักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ก็สนใจร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยเน้นด้านกิจการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร พลังงาน และเมืองแร่ เป็นต้น
โดยที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับซาอุฯ ในปี 2564 มีมูลค่า 7,301 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.8% แยกเป็นการส่งออก 1,638 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 5,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตู้เย็น-ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก ข้าวและผลิตภัณฑ์ พลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ น้ำมันสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ และเศษโลหะ เป็นต้น