นายเจริญ เหล่าธรรมทัศ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงการส่งออกข้าวไทยในปี2564 ว่าจากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในปี 2564 มีปริมาณ 6.12ล้าน ตัน มูลค่า 107,756 ล้านบาท ( 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ) โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 6.7% แต่มูลค่าส่งออกลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีการส่งออกปริมาณ 5.73ล้าน ตัน มูลค่า 116,042 ล้านบาท ( 3,731 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ )
โดยอันดับ1 ยังคงเป็นอินเดีย โดนมีปริมาณส่งออกข้าว19.55ล้านตันซึ่งมากที่สุดในโลกต่อเนื่อง4ปีนับตั้งแต่ปี2561-2564) เพิ่มขึ้น33.9% โดยปี2563 ส่งออกได้14.60ล้านตัน อันดับ2 เป็นเวียดนาม ส่งออกได้ในปริมาณ 6.24ล้านตัน แต่ภาพรวมทั้งปีส่งออกติดลบ5.2% ปี2563ส่งออกได้ 6.58ล้านตัน ส่วนอันดับ4เป็นของปากีสถาน ปริมาณ3.93ล้านตัน และสหรัฐ ส่งออกได้ในปริมาณ 2.85ล้านตัน
ส่วนการส่งออกข้าวในเดือนธันวาคม 2564 มีปริมาณ 729,138 ตัน มูลค่า 12,523 ล้านบาท โดยปริมาณส่งออกลดลง 3.5% และมูลค่าลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 755,492 ตัน มูลค่า 12,771 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งมีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากประเทศผู้ซื้อได้นำเข้าข้าวไปเป็นจำนวนมากและมีสต็อกข้าวเพียงพอแล้ว
ขณะที่การส่งออกข้าวหอมมะลิมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 31.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากตลาดหลักมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน โดยในเดือนธันวาคม 2564 มีการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ปริมาณ 191,801 ตัน โดยส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น ขณะที่กลุ่มข้าวขาวมีการส่งออกปริมาณ 305,601 ตัน ลดลง 13.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศแองโกล่า ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ จีน ฟิลิปปินส์ เบนิน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซีเรีย เป็นต้น ส่วนข้าวนึ่งมีการส่งออกปริมาณ 103,125 ตัน ลดลง 36.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลัก เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน เบนิน เป็นต้น
ทั้งนี้สมาคมฯคาดว่าในเดือนมกราคม 2565 การส่งออกข้าวจะอยู่ที่ประมาณ 700,000 ตัน โดยตั้งเป้าส่งออกในปี 2565 ที่ประมาณ 7 ล้านตัน มีปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลในเชิงบวกต่อการส่งออก ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าในแถบแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลาง มีความต้องการบริโภคข้าวและมีกำลังซื้อมากขึ้น
ประกอบกับคาดว่าผลผลิตข้าวของไทยจะมีมากขึ้น และค่าเงินบาทที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯซึ่งจะส่งผลให้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ ขณะที่ปัญหาด้าน ลอจิสติกส์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การส่งมอบข้าวทำได้ตามที่วางไว้
ด้านสถานการณ์ราคาข้าวในช่วงนี้มีแนวโน้มขยับสูงขึ้นเนื่องจากอุปทานข้าวในตลาดเริ่มตึงตัว ขณะที่ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 26 มกราคม 2565 อยู่ที่ 438 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม ราคา398-402 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน อินเดีย ราคา338-342ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถาน อยู่ที่ 358-362 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อตัน ด้านราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 438 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย ราคา368-372 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 388-392 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน