วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลลัพธ์ของการปฎิบัติงานตามนโยบายของามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยและให้ความสำคัญ ในกรณีที่อาจมีการกักตุนสินค้าประเภทเนื้อสุกรเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า โดยได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเครือข่ายปฏิบัติงานเร่งตรวจสอบห้องเย็นเพื่อแก้ปัญหา “หมูแพง” เริ่มเห็นผลลัพธ์แล้ว
“วันนี้ วันพระ ซึ่งตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 5/2565) ลูกสุกรขุนเล็ก 16 กิโลกรัม วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 : 3,500 บวก/ลบ 100 บาท เป็นผลสืบเนื่องจากการตรวจห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์ ส่งผลทำให้วันนี้ มีหลายห้องเย็นที่ไม่อยากจะรับฝาก เป็นเหตุที่ทำให้หมูออกตลาดมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชน ลดค่าครองชีพ เป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทางกรมปศุสัตว์จะดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหา "หมูแพง" ”
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว ถึงรายงานผลการตรวจห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 พื้นที่เข้าดำเนินการทั้งหมดที่สะสมตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ถึง วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 1,261 แห่ง จำนวนตรวจซากสุกรสะสม กว่า 23 ล้านกิโลกรัม
เฟซบุ๊กสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โพสต์สาเหตุการปรับราคาลดลงจาก กลไกตลาดทำให้ราคาสุกรหน้าฟาร์มวันพระนี้ย่อตัว หลังผ่านเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการจับจ่ายคนละครึ่งเฟส 4 เริ่มแล้ววันนี้ 1 ถึง 28 กุมภาพันธ์ จะเป็นปัจจัยบวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคสินค้าปศุสัตว์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ความกระจ่างเรื่อง "การกักตุน" ไว้อย่างชัดเจนตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการว่า “โดยหลักกฎหมายหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกักตุน ซึ่งหมายถึงการปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งที่มีสินค้าและมีผู้ขอซื้อสินค้าเข้ามาแต่ไม่จำหน่าย”
โดยสภาพจริงทุกจุดจำหน่ายปลีกทั่วประเทศ มีการบริหารการวางสินค้าเนื้อและชิ้นส่วนสุกรตลอดช่วงเวลาจำหน่ายได้อย่างไม่ขาดแคลน