วันที่ 11 มกราคม 2565 กรมปศุสัตว์ได้แถลงยอมรับอย่างเป็นทางการ ไทยพบโรคอุบัติใหม่ อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) หลังผลตรวจสอบยืนยันพบเชื้อจากตัวอย่างหมูที่จังหวัดนครปฐม พร้อมประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค พร้อมรายงานเรื่องไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และมีการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งผลพวงตามมายังมีเรื่องราวอีกมากมาย
นายวรพจน์ สัจจาวัฒนา นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรเพื่อการค้านครราชสีมา เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศปรับลดราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลงอีก 10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จาก 110 บาทต่อ กก.เหลือ 100 บาทต่อ กก. ผลพวงจากราคาขายปลีกเนื้อหมูในตลาดสูง ส่งผลผู้บริโภคซื้อลดลง และขายยาก ถือเป็นการปรับตัวตามกลไกตลาดปกติ ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าที่เคยชำแหละสุกรวันละ 5 ตัว ขายไม่หมด ก็ลดเหลือ 3 ตัว เป็นต้น ขณะที่ประชาชนหันไปบริโภคอาหารโปรตีนชนิดอื่นทดแทนจากมีราคาถูกกว่า
“ก่อนหน้านี้หมูหน้าฟาร์ม 80 บาทต่อกิโลฯ ราคาหมูหน้าเขียงอยู่ที่ 150-160 บาทต่อกิโลฯ ผู้บริโภคก็ยังรับได้ เพราะเนื้อหมูแม้ราคาจะสูง แต่ไม่มีกระดูก แต่ไก่ยังมีกระดูกปน เชื่อว่าราคาเนื้อหมูจะทรง ๆ จะไม่ปรับสูงแล้ว จากราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลดลงเหลือ 100 บาทต่อกิโล แต่เกษตรกรขายได้จริง 90 บาทต่อกิโลฯ ต่ำกว่าราคาประกาศ เพราะถูกพ่อค้ากดราคาอีกต่อหนึ่ง”
นายวรพจน์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องการตรวจสต๊อกเนื้อหมูทั่วประเทศมีการกักตุนหรือไม่ ในวงการมองว่าเป็นการค้าปกติ ที่ไปตรวจแล้วก็ไม่เห็นจะเอาผิดอะไรได้ อายัดสินค้าก็ไม่ได้ เพราะแจ้งว่าเป็นการสต๊อก 7 วัน ก็ไม่เข้าข่ายกักตุน จากขนส่งภาคกลางลงไปภาคใต้ และมีการทำตามระเบียบถูกต้องทุกอย่าง ซึ่งเวลานี้เนื้อหมูก็ขายได้ลดลง ขนาดช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ปกติเนื้อหมูจะขายดี แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ได้เพิ่มการเชือดและชำแหละ
สำหรับการปรับลดราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มลงเหลือ 100 บาทต่อ กก. ราคาเนื้อหมูหน้าเขียงที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับ 200 บาทเศษต่อ กก. ถ้าใครขายเกินกว่านี้ก็เข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภค อย่างไรก็ดีในเวลานี้การเพิ่มปริมาณผลผลิตหมูที่ขาดแคลน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแบบปัจจุบันทันด่วนคงไม่สามารถทำได้ มีทางเดียวคือการนำเข้าจากต่างประเทศมาทดแทนส่วนที่ขาด ซึ่งเวลานี้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกรอยากขอนำเข้าวัตถุดิบเนื้อหมูจากต่างประเทศ เพื่อใช้ในการแปรรูปเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง
อาทิ กุนเชียง, หมูแผ่น, หมูแท่ง, หมูหยอง เป็นต้น จากที่ผ่านมาราคาหมูที่ใช้เป็นวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมาก กระทบต้นทุนของโรงงานแปรรูปสูงขึ้นมาก แต่หากจะปรับราคาที่ปลายทางก็ไม่มีคนซื้อ ทำให้ยอดขายลดลง ปกติช่วงตรุษจีนจะขายดีมีคนจับจ่ายซื้อไปเป็นของฝากก็ไม่ซื้อ หรือซื้อลดลง
“หากรัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศได้ ไม่ควรอนุญาตให้นำมาขายปลีกในตลาด เพราะจะกระทบเกษตรกรผู้เลี้ยงในประเทศ ดังนั้นขอให้มีการนำเข้าแบบมีเงื่อนไข”
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ได้รายงานสถานการณ์จังหวัดที่พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ประจําวันที่ 29 มกราคม 2565 (ข้อมูลระหว่าง 15-27 ม.ค. 2565) มี 18 จังหวัดที่พบมีการระบาด ได้แก่ กรุงเทพฯ, นครปฐม, สุพรรณบุรี, พังงา, นครศรีธรรมราช, ชุมพร, มหาสารคาม, พัทลุง, แม่ฮ่องสอน, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์, บุรีรัมย์, หนองบัวลําภู, ราชบุรี, สงขลา, น่านและเชียงใหม่ ซึ่งจากการรายงานในส่วนของกรุงเทพฯ พบโรคนี้ในหมูแคระที่เป็นสัตว์เลี้ยง
ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อาทิ สุพรรณบุรี พบ 2 จุด, นครศรีธรรมราช 6 จุด, ชุมพร 1 จุด, มหาสารคาม 1 จุด, พัทลุง 2 จุด, แม่ฮ่องสอน 2 จุด, ศรีสะเกษ 1 จุด, ขอนแก่น 1 จุด, บุรีรัมย์ 2 จุด, ประจวบคีรีขันธ์ 3 จุด, หนองบัวลําภู 1 จุด, ราชบุรี 1 จุด, น่าน 2 จุด, เชียงใหม่ 2 จุด และสงขลา 1 จุด รวมเกษตรกร (ฟาร์ม) 31 ราย เป็นต้น ปัจจุบันกรมปศุสัตว์ จ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่พบโรค ASF แล้วกว่า 1.98 ล้านบาท โดยนครศรีธรรมราชจ่ายเงินเยียวยาสูงสุด 8.83 แสนบาท โดยมีการทำลายสุกร 312 ตัว
กรมปศุสัตว์ ยังได้รายงานการตรวจห้องเย็นสินค้าปศุสัตว์ ณ วันที่ 30 ม.ค. 2565 พื้นที่เข้าดำเนินการทั้งหมดสะสมระหว่างวันที่ 20-30 ม.ค. 2565 จำนวน 1,197 แห่ง รวม 22.8 ล้านกิโลกรัม
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ 2565