เปิดรายชื่อ ไส้กรอก-หมูยอ มรณะ ยี่ห้ออะไรอันตราย เช็คที่นี่

04 ก.พ. 2565 | 05:59 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.พ. 2565 | 13:06 น.

ตรวจสอบรายชื่อไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ มรณะ หลังตำรวจสอบสวนกลาง อย. บุกทลายโรงงานแหล่งผลิต พบของกลาง 32 รายการ พร้อมเปิดเผยฉลากยี่ห้อสินค้าที่ได้ทำการผลิตทั้งหมดในแหล่งผลิตนี้

จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าทลายแหล่งผลิตไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ในโรงงานเป้าหมาย จ.ชลบุรี พร้อมจับกุมแหล่งผลิตไส้กรอกปนเปื้อน และยึดของกลางกว่า 32 รายการ มูลค่ากว่า 700,000 บาทนั้น

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบโรงงานเป้าหมาย ได้มีผู้แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ โดยรับว่าทำการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต และฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหลายรายการตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้ข้อมูลจากผู้ป่วยว่าบริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว

โดยเจ้าหน้าที่ได้มีการเปิดเผยฉลากยี่ห้อสินค้าที่ได้ทำการผลิตทั้งหมดในแหล่งผลิต มีดังนี้

เปิดรายชื่อ ไส้กรอก-หมูยอ มรณะ ยี่ห้ออะไรอันตราย เช็คที่นี่

•    ไส้กรอกเต็งหนึ่ง
•    หมูยอ บ.อุบล
•    หมูยอแม่จันตรี
•    หมูยออู๋ลี่เจี้ยน
•    หมูยอภูวดล
•    พรีเมี่ยมหมูยออุบล
•    พรีเมี่ยมไก่ยออุบล
•    หมูยอ-ไก่ยอจอมยุทธ
•    ไก่ยอเศรษฐี
•    ไก่ยอฤทธิ์ รสเด็ด
•    ลูกชิ้นสวัสดี
•    ลูกชิ้น บุญปาก
•    ลูกชิ้นหมูบ้านแหลม
•    888พรีเมี่ยม ยออุบลหนังหมู

 
สำหรับการฉลากสินค้าทั้งหมดจากการตรวจสอบไม่แสดงเลขสารบบอาหาร และเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ (ได้คะแนนรวม 19 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.67) อีกทั้งยังพบข้อบกพร่องได้แก่ ไม่มีการควบคุมการผลิต ในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร  อย่างเหมาะสม อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย 

 

ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท  จึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 

 

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท  

 

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ขอฝากความห่วงใยมายังประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค 

 

พร้อมขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา