เล็งเที่ยวบินพาณิชย์ไฟลท์ปฐมฤกษ์ “สนามบินเบตง” ไม่เกิน 28 ก.พ.

05 ก.พ. 2565 | 13:11 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2565 | 20:20 น.

“ศักดิ์สยาม” ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสนามบินเบตงก่อนเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เชิงพาณิชย์ไม่เกิน 28 ก.พ. ด้าน “อนุทิน” ย้ำระบบสาธารณสุข อ.เบตง จ.ยะลา พร้อมเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวชายแดนใต้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมใน การเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ อย่างเป็นทางการของ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา วันนี้ (5 ก.พ.) โดยท่าอากาศยานเบตง ดำเนินการก่อสร้างขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาเศรษฐกิจความมั่นคงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตง ที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ไม่สะดวกต่อการเดินทาง ให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่  

ท่าอากาศยานเบตง       

นายศักดิ์สยาม คาดว่าจะกำหนดเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์เชิงพาณิชย์ที่สนามบินเบตงได้ไม่เกินวันที่ 28 ก.พ.2565 โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ส่วนความเหมาะสมอัตราค่าโดยสารของสายการบิน ก็จะต้องคำนึงถึงจำนวนผู้โดยสาร อีกทั้งจะให้หน่วยงานรัฐช่วยปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อลดภาระแก่สายการบินไม่ให้มากเกินไป

 

ปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงได้รับใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (Public Aerodrome Operating Certificate : PAOC) ซึ่งมีความพร้อมในการให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ทั้งด้านกายภาพ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และบุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บริการภายใต้มาตรการการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าภูมิประเทศของพื้นที่ท่าอากาศยานเบตงจะล้อมรอบด้วยภูเขา แต่เส้นทางการบินอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และการขึ้น – ลง ของอากาศยานอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด   

 

ที่ผ่านมาท่าอากาศยานเบตงมีการทดสอบทางการบินหลายครั้ง และได้ทดลองเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์แบบเช่าเหมาลำเที่ยวแรกโดยสายการบินนกแอร์ ใช้อากาศยานแบบ Q-400 ความจุผู้โดยสาร 86 ที่นั่ง เส้นทางดอนเมือง - เบตง - ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา

 

ขณะนี้ มีสายการบินขออนุญาตทำการบินไว้ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหาดใหญ่ - เบตง - หาดใหญ่ และดอนเมือง - เบตง - ดอนเมือง อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในเดือนก.พ. นี้ โดยมีการให้บริการเที่ยวบินประจำวันละ 2 เที่ยวบิน คือ หาดใหญ่ -เบตง-หาดใหญ่ ซึ่งจะรองรับการเดินทางของผู้ที่เดินทางเข้าเมืองเบตงของประชาชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ปกติจะใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ 4 ชั่วโมง มาใช้ทางเครื่องบินเพียง 40 นาที

 

ส่วนอีกเที่ยวบิน ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ใช้เวลา 1.40 ชั่วโมงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ สายการบินจะทำการปรับเวลาเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้เดินทางให้เหมาะสมมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่าอากาศยานเบตงยังไม่เปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ แต่ได้มีการให้บริการเที่ยวบินทางราชการและเที่ยวบินส่วนบุคคลซึ่งได้มีการทำการบินมาอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจุบัน ท่าอากาศยานเบตง มีศักยภาพของอาคารที่พักผู้โดยสารสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 300 คน ต่อชั่วโมง หรือ 8 แสนคนต่อปี มีสถาปัตยกรรมตกแต่งด้วยไม้ไผ่สวยงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ท้องถิ่น มีความยาวทางวิ่ง ขนาด 30x1,800 เมตร ลานจอดอากาศยานสามารถรองรับเครื่องบินขนาดไม่เกิน 80 ที่นั่ง ได้จำนวน 3 ลำในเวลาเดียวกัน และลานจอดรถยนต์สามารถจอดรถยนต์ได้ 140 คัน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล

สำหรับการประชุมหารือร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขและอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้ ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อย่างป็นทางการ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรมท่าอากาศยาน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัดยะลา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง สายการบินและผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมประชุม มีผลการประชุมหารือ ดังนี้

  1. ให้ท่าอากาศยานเบตงเตรียมความพร้อมทางด้านกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก สำหรับการเปิดให้บริการพร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการทำการบินผ่านมาตรการการลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานและค่าจอดอากาศยาน รวมไปถึงการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุนให้สายการบินสามารถดำเนินการบินได้อย่างต่อเนื่อง
  2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุน ผลักดันกิจกรรมในการเดินทาง และการท่องเที่ยว เช่น อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม การลดค่าธรรมเนียม จัดตั้งศูนย์จัดจำหน่ายสินค้า OTOP และความพร้อมในการรองรับคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการทางสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจในทุกขั้นตอนการเดินทางของท่าอากาศยาน 

 

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข ซึ่งลงพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา เช่นกันเพื่อติดตามความพร้อมเปิดเมืองเป็นประตูสู่การท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมพัฒนาและขยายบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รองรับการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยว ลดการส่งต่อผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของท่าอากาศยานนานาชาติเบตง เนื่องจากในอนาคตอำเภอเบตง จะเป็นประตูด่านแรกในการต้อนรับผู้เดินทางทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านสู่การท่องเที่ยวและประกอบธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติ ทั้งการคมนาคมทางบก/อากาศ การขนส่ง การรักษาความปลอดภัย ตลอดจนระบบการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งพบว่ามีความพร้อมในการให้บริการประชาชน อำนวยความสะดวกในการเดินทางสัญจรอย่างมาก

 

สำหรับด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเบตงซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน หากมีการเปิดเมืองและดำเนินการท่าอากาศยานนานาชาติเบตง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาและขยายการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลประชาชน/นักท่องเที่ยว และลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนอกพื้นที่ โดยในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา อำเภอเบตง ดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มแข็งทุกมิติ เช่น มาตรการ COVID Free Setting ในโรงเรียน ร้านอาหาร ตลาด โรงแรม และศาสนสถาน รวมถึงให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในโรงพยาบาลเบตง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ด่านเข้าเมืองเบตง และการฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ห่างไกล ทำให้สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้อย่างชัดเจน เชื่อมั่นว่าความร่วมมือเหล่านี้ ทำให้อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จะเป็นอีกหนึ่งเป็นเป้าหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบธุรกิจ ช่วยเดินหน้าเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

 

 ทั้งนี้ นายอนุทินและคณะของกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโนบายด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมพบปะอาสาสมัครกระทรวงสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนกว่า 300 คนด้วย

 

 จากสถิติพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 5 ก.พ. 2565 จังหวัดยะลามีผู้ติดเชื้อสะสม 557 ราย รักษาหายแล้ว 537 ราย เสียชีวิตสะสม 11ราย วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 24 ราย กำลังรักษา 165 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ ฉีดเข็มที่ 1 ไปแล้ว ร้อยละ 64.40 เข็มที่ 2 ร้อยละ 53.80 และเข็มที่ 3 ร้อยละ 7.91