นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากเดือนมีนาคมที่จะครบกำหนดการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบ เพื่อช่วยเหลือประชาชน คงจะมีการปล่อยให้ราคาปรับขึ้นตามขั้นบันได จากเดิม 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ก.ก.) เป็น 333 บาท และ 363 บาท ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ หากปรับขึ้นเป็นราคา 333 บาทต่อถัง 15 ก.ก. ก็ยังคงต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยก็จะยังได้รับการช่วยเหลือยู่ผ่านลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จากเดิมที่ช่วยอยู่ 45 บาทต่อ 3 เดือน ก็จะเพิ่มเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ 13.5 ล้านราย
โดยเงิน 100 บาทในการดูแลช่วยเหลือดังกล่าวนั้น กระทรวงการคลังจะรับผิดชอบดูแลอยู่ 45 บาท ส่วนอีก 55 บาทที่เหลือกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะหามาจากแหล่งเงินใด
ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เตรียมเงินช่วยเหลือส่วนดังกล่าวนี้ไว้แค่เพียง 45 บาท ดังนั้น ส่วนที่เหลือกระทรวงพลังงานจึงต้องหาแหล่งเงินมาช่วย
ขณะที่ LPG ภาคขนส่งในปัจจบุันมีจำนวนอยู่ไม่มากเท่าใดนัก คาดว่าคงจะไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือแต่อย่างใด โดยมุ่งช่วยเหลือผู้ที่นำมาใช้เพื่อก๊าซหุงต้มเป็นหลักในส่วนของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะมีทั้งภาคขนส่ง หาบเร่แผงลอย เป็นต้น ซึ่งรวมอยู่ในบัตรดังกล่าว
"ค่อนข้างชัดเจนว่าจะไม่มีการตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนต่อไป คงจะปล่อยให้เป็นไปแบบขั้นบั้นได แต่ราคาจะอยู่ที่เท่าไหร่คงต้องพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีการตรึงมาในระยะเวลาประมาณ 2 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันที่เป็นหลักของกองทุนน้ำมันฯ ซึ่ง ณ ระยะเวลาที่ช่วยอยู่ราคาน้ำมันอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด แต่ปัจจุบันนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ดังนั้น จึงต้องยึดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก"
นายกุลิศ กล่าวต่อไปอีกว่า หากราคา LPG ปรับราคาขึ้น 1 บาทจะช่วยลดภาระเงินกองทุนน้ำมันฯประมาณ 9 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 270-280 ล้านบาทต่อเดือน