วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 13.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting
ร่วมกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อการบรรลุเป้าหมาย ปี พ.ศ. 2566 โดยเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่
นอกจากนี้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปี พ.ศ. 2564 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Model ให้เป็นรูปธรรมตามแนวทางที่กำหนดในร่างแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564–2570
ภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูทรัพยากร จากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพที่ดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม” ดังนี้
1. ภาครัฐปรับแผนและเริ่มขับเคลื่อนแผน BCG ซึ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการปรับแผนงาน จัดทำยุทธศาสตร์ จัดตั้งคณะกรรมการ และจัดทำ โครงการที่เกี่ยวข้องกับ BCG อีกทั้งมีการจัดทำแผน BCG เป็นการเฉพาะ ตลอดจนการปรับแก้กฎหมายและกฎหมายใหม่
2. การตอบรับนโยบายของภาคเอกชน โดย 9 เดือนแรกของปี 2564 มูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงกว่า 128,000 ล้านบาท
3. การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมของจตุภาคี ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และวิชาการ อาทิ การยกระดับรายได้ของเกษตรกรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่โดยนำร่องที่จังหวัดราชบุรี (ราชบุรีโมเดล) เพื่อสร้างเกษตรมูลค่าสูง รวมทั้งการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ก้าวพ้นความยากจน ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ ใน 5 จังหวัด
ได้แก่ ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้อง 20,000 คน และมีคนจนในมิติเศรษฐกิจ 2,329 คน ด้วยการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปพัฒนาทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ตลอดจนพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ นวัตกรชุมชน เชื่อมโยงการตลาดกับภาคเอกชน รวมถึงยกระดับเกษตรกรเพื่อการเป็นผู้ประกอบการ
โดยมุ่งหวังว่าจะลดคนจนในมิติเศรษฐกิจลงได้ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 3 ปี รวมถึงการสร้างอาชีพให้กลุ่มเปราะบาง “พัฒนา โครงการ Hygiene Street Food” เพื่อมอบโอกาสการสร้างอาชีพอิสระให้กับผู้เปราะบางใน สังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้พ้นโทษจากเรือนจำ/ทัณฑสถานหญิง ด้านการท่องเที่ยวก็ยังมี การขับเคลื่อน Happy Model มีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutral 10 เส้นทางใน18 จังหวัด
4. ภาคสังคมขับเคลื่อนงาน BCG โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (เอส โอ เอส) และหน่วยงานพันธมิตร ดำเนินโครงการ “ธนาคารอาหาร” เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนอาหารช่วงโควิด-19
โดยนำอาหารส่งมอบให้กับประชากรกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการเข้าถึงอาหารจำนวน 11 ล้านมื้อ ในพื้นที่ 552 ชุมชน คิดเป็นปริมาณอาหารส่วนเกิน 2,612 ตัน และปริมาณ ก๊าซ CO2 ที่ลดได้ 4,964 ตัน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 25 ล้านมื้อ ในปี 2570 คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ขาดแคลนอาหารได้ 500,000 คน
5. ความคืบหน้าด้านต่างประเทศ ซึ่งนานาประเทศได้ให้ความสนใจโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งนี้ มี 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา เยอรมนี เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีการลงนาม MOU ระหว่าง สวทช. และ NEDO เพื่อการขับเคลื่อน BCG และ Green Growth Strategy ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 5
นอกจากนี้มีการจัดตั้ง JCC BCG Committee’s Members มี Mr. Take Kato ประธานบริษัท Mitsui & Co, (Thailand) Ltd. เป็นประธานคณะกรรมการ ขณะที่อาเซียน มีการตั้ง ASEAN Network on Bio-Circular- Green Economy เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับ แนวคิด BCG Economy รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี BCG ที่ เหมาะสมระหว่างกัน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าการดำเนินการของคณะกรรมการ BCG ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างน่าพอใจ โดยขอให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และทุกฝ่าย บูรณาการขับเคลื่อนการทำงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ BCG ร่วมกัน
เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมุ่งหวังไม่เพียงแต่การให้ประเทศไทยมีรายได้ แต่ยังมุ่งเน้นให้ประชาชนคนไทยมีความสุข เพื่อทำให้ปี 2565 เป็นปีที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนโดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนะในที่ประชุม ขอให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระที่ลงลึกไปในระดับพื้นที่ รวมทั้งต้องหาวิธีการปลดล็อกในเชิงกฎหมาย ที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดกับการดำเนินนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนขับเคลื่อนแนวคิด BCG และขอให้ทุกฝ่ายนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปประยุกต์ให้เข้ากับกรอบของความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่วาระหลักของการประชุม APEC ซึ่งไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้อีกด้วย เพื่อทำให้เห็นภาพการทำงานของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ติดตามผลลัพธ์ของโมเดล BCG ที่นำมาปรับใช้ ตลอดจนให้สำนักงบประมาณนำเอาแนวคิด BCG ไปเป็นแนวในการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ปี 2565 นี้ จะต้องเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการพลิกโฉมประเทศไทย ทำให้ประชาชนมีรายได้ และเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ที่มา : ทำเนียบรัฐบาล