ปลุกSMEsกู้กองทุนพัฒนา2พันล้าน ยกระดับผู้ผลิตอุดรฯสู่BCG Model

28 ม.ค. 2565 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 20:37 น.

กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดรับคำขอสินเชื่อปี 2565 วงเงิน 2,000 ล้านบาท ฟื้นฟู-เสริมสภาพคล่องกิจการ พร้อมกันวงเงิน 1,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการยกระดับศักยภาพองค์กรสู่เป้าหมาย BCG Model มุ่งใช้ทรัพยากรชีวภาพสร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.กศิพัฎญ์ ทองแกม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ  หัวหน้าส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรม  กองทุนพัฒนากองทุน SMEs สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดงบประมาณ จำนวน 2,000 ล้านบาท สำหรับโครงการสินเชื่อพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ของไทย

 

โดยในปี 2565  แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.สินเชื่อเพื่อฟื้นฟู SMEsให้กู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 2%  ต่อปีตลอดอายุสัญญา ปลอดดอกเบี้ย 12 เดือน ผ่อนระยะยาว 7 ปี

ดร.กศิพัฎญ์ ทองแกม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ  หัวหน้าส่วนส่งเสริมอุตสาหกรรม  กองทุนพัฒนากองทุน SMEs สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี

2.สินเชื่อสร้างโอกาสเสริมสภาพคล่อง SMEs ให้กู้สูงสุดรายละ 2 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปีตลอดอายุสัญญา ผ่อนนาน 7 ปี ปลอดดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน  มีวงเงินประเภทละ 500 ล้านบาท
 

3.สินเชื่อเสริมศักยภาพ SMs วงเงิน 1,000 ล้านบาท ให้วงเงินกู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2 % ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ปลอดดอกเบี้ย 12 เดือน  ระยะการผ่อนชำระ 10 ปี

โดยสินเชื่อประเภทที่ 3 นี้ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SMEs เพื่อปรับตัวสู่ BCG Model  ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจใหม่ภายใต้แนวทาง BCG Model ประกอบด้วยอุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสีเขียว เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปที่ใช้เทคนิคชีวภาพ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน  อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ และบริการทางการแพทย์ อุตสาหกรรมผู้ใช้-ผลิตเทคโนโลยีอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 
 

ดร.กศิพัฎญ์ กล่าวอีกว่า จากที่มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานสนับสนุน คือ บสย. กองทุนพัฒนา SMEs  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (SME BANK) และอื่นๆ เพื่อบูรณา การร่วมกันดำเนินการโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือพัฒนาอุตสาหกรรม SMEs ภายใต้การขับเคลื่อนภายใต้กรอบนโยบาย BCG Model ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้ 
 

โดยทั้ง 3 โครงการดังกล่าวทางกระทรวงฯได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค.-31 พ.ค.2565 เป็นต้นไป หรือจนกว่าวงเงินที่กำหนดให้ไว้จะหมด  เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ลูกค้าของกองทุน SMEs  เดิมอยู่แล้ว หรือ ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ START UP ที่ต้องการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้กรอบของ BCG Model และโครงการที่สร้างและเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs

 

ผู้ประกอบการ SMEs ของจังหวัดอุดรธานี สามารถใช้โอกาสนี้เข้ามายื่นความจำนง เพื่อขอรับเงินกู้จากโครงการกองทุนดังกล่าว เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปแก้ไขปัญหาพัฒนาธุรกิจ SMEs ของตนเองให้มีสภาพคล่อง สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ 

 

ดร.กศิพัฎญ์ฯ กล่าวเสริมว่า สำหรับโครงการสนับสนุนกองทุนพัฒนา SMEs ปี 2565 นี้ เป็นการดำเนินการระยะที่ 5 และเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ยังดำเนินการอยู่ กระทรวงอุตสาหกรรมจะทยอยจัดโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำอีกเป็นระยะ ซึ่งที่ผ่านมานั้นผู้ประกอบการ SMEsของจังหวัดอุดรธานี มีโอกาสเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าวแล้วเป็นวงเงินกว่า 300 ล้านบาท 

 

“โครงการนี้เป็นการตอบโจทย์ของผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่ต้องการพัฒนา เสริมโอกาสสร้างสภาพคล่องธุรกิจ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีโครงการพัฒนาเสริมความรู้ด้านด้านการผลิตต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มศักยภาพองค์กร ยกระดับผลิตภัณฑ์อีกด้วย” ดร.กศิพัฎญ์กล่าว

หน้า 2 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,752 วันที่ 27-29 มกราคม พ.ศ.2565