โครงสร้างราคาน้ำมัน ค่าการตลาดเบนซินอยู่ที่เท่าไหร่ แบกดีเซลอย่างไร

10 ก.พ. 2565 | 08:41 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.พ. 2565 | 12:06 น.

โครงสร้างราคาน้ำมัน ค่าการตลาดเบนซินอยู่ที่เท่าไหร่ แบกดีเซลอย่างไร อ่านครบจบที่นี่ ตะลึงผู้ใช้น้ำมันเบนซินจ่ายสูงสุดมากกว่าดีเซลถึง 4 เท่า

ราคาน้ำมันวันนี้โดยเฉพาะราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ที่ไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐเหมือนกับกลุ่มน้ำมันดีเซล ซึ่งภาครัฐใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาให้กว่า 3.79 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้มีราคาขายปลีกเกิน 30 บาทต่อลิตร  ต้องบอกว่าแพงอย่างมาก 

 
สำหรับน้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอลล์นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" เคยนำเสนอไปแล้วว่า หากย้อนกลับไปในช่วงตั้งแต่หลังเทศกาลปีใหม่เป็นต้นมา หรือเพียงช่วงระยะเวลาเดือนกว่า ถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 มีการปรับขึ้นราคาไปแล้วถึง 9 รอบ 

 

จากการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 3.30 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคาอยู่ที่ 42.46 บาทต่อลิตร 

 

 

,กลุ่มแก๊สโซฮอล์ขึ้นแล้ว 3.70 บาทต่อลิตร โดยแก๊สโซลฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.78 บาทลิตร ,แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 35.05 บาทต่อลิตร และอี 20 อยู่ที่ 33.94 บาทต่อลิตร
 

ขณะที่ อี 85 เพิ่มขึ้น 2.60 บาทลิตร อยู่ที่ 27.24 บาทต่อลิตร 
ส่วนราคาน้ำมันดีเซล บี 7 และบี 20 เพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 29.94 บาท 

โดยปัจจุบันเริ่มมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินแล้วว่า เหตุใดกลุ่มของตนเองต้องเป็นผู้ที่เข้าไปอุ้มกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซล

ทั้งนี้ หากเข้าไปดูในส่วนของค่าการตลาดจากสำนักงานนโยบาย และแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (สนพ.) จะทำให้เห็นถึงมูลค่าที่ผู้ใช้ต้องจ่าย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ประกอบด้วย

 

  • น้ำมันเบนซิน 95 มีค่าการตลาด (Marketing Margin) ปัจจุบันอยู่ที่   2.8815 บาท

 

  • แก๊สโซฮอลล์ 95 อยู่ที่ 2.7981 บาท

 

  • แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 2.9540 บาท

 

  • แก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 3.3983 บาท
     
  • แก๊สโซฮอล์ E85 อยู่ที่ 4.2745 บาท

 

  • ขณะที่กลุ่มน้ำมันดีเซลทุกชนิดมีค่าการตลาดอยู่ที่ 1.1612 บาท

 

โครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน 10 ก.พ.

 

ซึ่งจากราคาค่าการตลาดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง จะต้องจ่ายมากกว่าดีเซลสูงสุดถึง 4 เท่า เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือ

 

และที่สำคัญต้องนำเงินที่จ่ายไปอุ้มกลุ่มผู้ใช้ดีเซลด้วย โดยเป็นประเด็นคำถามที่เสมือนรัฐผลักภาระการตรึงราคาน้ำมันดีเชลมาให้คนใช้เบนซินแบกรับหรือไม่ 
 

สำหรับค่าการตลาดนั้น คือ ผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับจากการทำธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนของการลงทุนก่อสร้างคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง

 

การก่อสร้างสถานีบริการ การส่งเสริมการขาย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจทุกอย่าง รวมถึงค่าใช้จ่ายบุคลากร เป็นหนึ่งในโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย

 

ดังนั้น ค่าการตลาดจึงมิใช่กำไรของผู้ประกอบการ แต่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจซึ่งรวมถึงกำไรด้วย

 

โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย ประกอบด้วย

 

  • ราคาหน้าโรงกลั่น หรือราคาเนื้อน้ำมัน คือ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังไม่ได้รวมภาษี กองทุน และค่าการตลาด

 

  • ภาษีสรรพสามิต คือภาษีที่จัดเก็บสินค้าที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดการใช้ของสินค้าเหล่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นการจัดหารายได้ให้แก่ภาครัฐ ซึ่งเงินส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม

 

  • ภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) คือ ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นตามมาตรา 4 ของ พรบ.จัดสรรเงินภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และส่งมอบให้กระทรวงมหาดไทย มีอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิตของน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท

 

  • เงินที่เรียกเก็บเข้า/อุดหนุน จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2547 เรื่องกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุประสงค์หลักคือการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ

 

  • เงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550

 

วัตถุประสงค์ คือ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายช่วยเหลือหรืออุดหนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในมาตรา 25 โดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ รวมทั้งกำหนดอัตราการส่งเงินที่เรียกเก็บเข้ากองทุนฯ 

 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มของราคาขายส่ง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการในส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการชนิดต่างๆ

 

โดยปัจจุบันอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจการขายสินค้า การให้บริการทุกชนิด และการนำเข้า อยู่ที่อัตรา 7%

 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด คิดเป็น 7% ของค่าการตลาด