นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาขสมก.ได้หารือร่วมกับ นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)รวมทั้งไปเดินทางลงไปเยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถ ย่านรังสิต ของบขส. เพื่อพิจารณาแนวทางการนำรถเมล์ ขสมก.มาซ่อมบำรุงที่อู่ ของ บขส.แทนการจัดจ้างเอกชนภายนอกซ่อมแซม ทั้งนี้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าซ่อมแซมรถเมล์ของขสมก.ซึ่งปัจจุบันมีรถเมล์ที่วิ่งให้บริการและจำเป็นต้องซ่อมบำรุง 2,885 คัน คิดเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายขององค์กรมากถึง 1,600 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 20%
“ขสมก.จะใช้เวลาการในการวิเคราะห์ความเหมาะสม 3-4 เดือนจึงจะได้ข้อสรุปว่า จะเปลี่ยนมาจ้าง บขส.ซ่อมแทนการจ้างเหมาเอกชนเหมือนในปัจจุบันหรือไม่ โดยจะต้องดูต้นทุนด้านการซ่อมว่า หากต้องขับรถมาซ่อมถึงรังสิตจะมีภาระน้ำนเชื้อเพลิงเพิ่มมากแค่ไหน หรือ บขส.จะต้องเข้ามาสร้างศูนย์ซ่อมนในอู่รถเมล์ ของ ขสมก. รวมทั้งดูว่าศักยภาพในการซ่อม ของ บขส.สอดคล้องกับระยะเวลาความต้องการใช้รถของ ขสมก.ในแต่ละวันหรือไม่ จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับต้นทุนจ้างเอกชนภายนอกซ่อมบำรุง หากต้นทุนซ่อมกับ บขส.ถูกกว่า ก็อาจจะหันมาซ่อมบำรุงกับ บขส.แทน”
นายสัญลักข์ ปัญวัฒลิขิตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของทั้ง 2 หน่วยงานกำลังทำงานร่วมกับเพื่อสรุปความเป็นไปได้ ของขอบเขตการซ่อมบำรุง หากพิจารณาว่าคุ้มค่า อาจจะมีการนำร่องซ่อมรถเมล์ขสมก. จากอู่รังสิตก่อน ส่วนค่าบริการซ่อมบำรุงนั้นจะคิดในอัตราแบบรัฐต่อรัฐ เนื่องจากเป็นหน่วยงานในสังกัดคมนาคมเหมือนกัน โดยอาจจะให้ส่วนลดค่าแรงในการซ่อมบำรุง 15-20% ส่วนค่าอะไหล่ก็เป็นไปตามราคาตลาด โดย บขส.มั่นใจว่าจะมีศักยภาพในการซ่อมบำรุงรถเมล์ ขสมก.ได้ เนื่องจากปัจจุบันศูนย์ซ่อมที่รังสิตมีพื้นที่กว่า 40 ไร่ สามารถซ่อมบำรุงและตรวจสภาพรถบัสขนาดใหญ่และขนาดเล็กของ บขส. กว่า 300 คันได้อยู่แล้ว