นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ลูกจ้างในภาคธุรกิจถูกเลิกจ้าง ตกงาน รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลเป็นลูกโซ่สะเทือนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จะใช้ ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดดังกล่าวสามารถช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบปัญหาการว่างงานได้จริง
โดยดูได้จากความสำเร็จของการจัดงาน แฟรนไชส์สร้างอาชีพทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา สร้างผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ได้กว่า 5,800 ราย มูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับ ปี 2565 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังคงเดินหน้าใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชนที่ต้องการมีอาชีพหรือเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
และจะเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งระบบ (แฟรนไชส์ซอร์ แฟรนไชส์ซี และผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์) ผ่านการอบรมให้ความรู้ 2 กิจกรรม คือ การสร้างธุรกิจรายใหม่เข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ (Franchise B2B) และ การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ (Franchise Standard) รวมทั้ง จะมีการจัดกิจกรรมสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ประกอบการแฟรนไชส์เพื่อให้เกิดเครือข่ายธุรกิจ นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การประกอบธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง โดยมีพันธมิตรทางธุรกิจคอยช่วยเหลือเกื้อกูล สนับสนุน และส่งเสริมธุรกิจกันในระยะยาว
“นอกจากนี้ จะเร่งประสานสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรกับกรมฯ สนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ เพื่อนำไปขยายธุรกิจสำหรับแฟรนไชส์รายเดิม หรือนำไปเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างโอกาสทางการตลาดโดยนำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าที่มีชื่อเสียงและเกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อแสดงศักยภาพของธุรกิจ และหาพันธมิตรเพิ่มเติม รวมทั้ง เป็นช่องทางให้ผู้ที่กำลังมองหางานนำไปประกอบเป็นอาชีพ”
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ตั้งเป้าภายในปี 2565 จะสร้างอาชีพให้ประชาชนผ่านระบบแฟรนไชส์ จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 4,600 ล้านบาท ปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของ GDP ทั้งประเทศ และเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง รวมถึง ใช้เป็นเครื่องมือในการ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งในยามที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤตจากกรณีต่างๆ หรือในยามที่ประเทศมีความรุ่งเรือง โดยธุรกิจแฟรนไชส์พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศทุกรูปแบบ และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจที่ทำให้คนไทยมีความอยู่ดี กินดี และมีความมั่นคงระยะยาว
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2565) ธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 609 กิจการ แบ่งตามประเภทได้ดังนี้ 1) อาหาร 198 กิจการ (ร้อยละ 32.5) 2) เครื่องดื่ม 146 กิจการ (ร้อยละ 24.0) 3) บริการ 101 กิจการ (ร้อยละ 16.6) 4) การศึกษา 100 กิจการ (ร้อยละ 16.4) 5) ค้าปลีก 39 กิจการ (ร้อยละ 6.5) และ 6) สปาและความงาม 25 กิจการ (ร้อยละ 4.0)