ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ 27พ.ย.2567 ที่ระดับ 34.72 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจยังมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ไปก่อน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทก็อาจยังติดอยู่แถวโซนแนวต้าน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Short THB รวมถึงแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน
อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนจากราคาทองคำ ราคาน้ำมันดิบ ซึ่งหากปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก็อาจกดดันเงินบาทเพิ่มเติมผ่านโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในช่วงราคาปรับฐานได้
นอกจากนี้ ในระยะสั้น เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวลมาตรการกีดกันทางการค้าในรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจพุ่งเป้ามายังจีน กดดันให้เงินหยวนจีน (CNY) ยังมีจังหวะโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง
ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นบ้าง ในจังหวะที่เงินดอลลาร์ย่อตัว ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD หรือผู้เล่นในตลาดอาจปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด เช่น เริ่มทยอยเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ เรามองว่า การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจติดแถวโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงปลายเดือน ทำให้บรรดาผู้นำเข้าอาจทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ได้
อย่างไรก็ตาม ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งอัตราเงินเฟ้อ PCE และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.85 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.59-34.77 บาทต่อดอลลาร์) โดยทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้น ก็เป็นไปตามทิศทางของเงินดอลลาร์ที่มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ยังคงสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของภาคการบริการที่ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงบ้าง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD รวมถึงการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าหลุดโซน 153 เยนต่อดอลลาร์
ซึ่งอาจได้รับอานิสงส์จากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดกังวลแนวโน้มสงครามการค้า หลังว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน เม็กซิโก และแคนาดา นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
อย่างไรก็ดี เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าว เผชิญแรงกดดันจากข่าวอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่ม Hamas และลดความขัดแย้งในตะวันออกกลางลงได้
แม้ว่าในช่วงแรกของการซื้อ-ขาย ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะถูกกดดันบ้างจากการประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เม็กซิโกและแคนาดา โดยว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า หากมีการขึ้นภาษีนำเข้าจริงก็น้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าจากจีน นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Amazon +3.2%, Microsoft +2.2% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.57%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -0.57% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมของยุโรป หากสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน เม็กซิโกและแคนาดา
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้หุ้นกลุ่มยานยนต์ปรับตัวลงหนัก อาทิ Stellantis -4.8% นอกจากนี้ การปรับตัวลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันดิบ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah ก็มีส่วนกดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงานยุโรป อาทิ TotalEnergies -1.7%
ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวแถวโซน 4.30% โดยมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะข้อมูลกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคการบริการ ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สดใส อีกทั้งรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes)
สะท้อนว่า เฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ มากนัก เหมือนในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมุมมองเดิมว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบ Sideways โดยแม้ว่าเงินดอลลาร์จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แต่การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ก็ถูกชะลอลงโดยแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน
รวมถึง การรีบาวด์ของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่าหลุดโซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.5-107.2 จุด)
ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะทยอยรีบาวด์ขึ้นบ้าง แต่การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำก็ถูกชะลอลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยคลายความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจากข่าวอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah
อย่างไรก็ดี การย่อตัวลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอช่วยพยุงราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ให้สามารถแกว่งตัวแถวโซน 2,650-2,660 ดอลลาร์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนตุลาคม รวมถึงรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)
ส่วนในฝั่งเอเชีย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจลดดอกเบี้ยนโยบาย 50bps สู่ระดับ 4.25% ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1%-3% ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจนิวซีแลนด์ก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น
นอกจากนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอาจดูสงบลงได้บ้างในช่วงนี้ หลังอิสราเอลบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่ม Hezbollah
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 34.66-34.68 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.10 น.) ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทแกว่งตัวเป็นกรอบ แต่อาจต้องติดตามปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าในระหว่างวัน
โดยเฉพาะสัญญาณตึงเครียดในประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการย่อตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่จุดสนใจของตลาดในวันนี้น่าจะอยู่ที่ดัชนีราคา PCE/Core PCE ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดติดตาม เพราะจะผลต่อการประเมินโอกาสความเป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือนธ.ค. นี้
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 34.55-34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก ข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค. ของจีน
และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคา PCE/Core PCE ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2567 (Prelim.)