วันนี้(14 ก.พ.65) ดร.อุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ผมและทีมพรรคสร้างอนาคตไทย ได้เข้ารับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว กับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผมได้รับรู้ถึงข้อมูลสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งโอกาสในการสร้างรายได้ที่ประเทศต้องสูญเสียไป คิดเป็นเม็ดเงินมหาศาล
ก่อนหน้าเกิดโรคระบาด ประเทศไทยเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ในปี 2562 แต่วันนี้หายไปร้อยละ 90 โดยเมื่อปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึงเกือบ 40 ล้านคน ปี 2563 เหลือ 7 ล้านคน และในปี 2564 เหลือเพียง 4 แสนคนเท่านั้น
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนกว่า 7 ล้านคน ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานในภาคท่องเที่ยว ต้องพบกับความยากลำบาก โดยส่วนที่เป็นแรงงานประเมินว่าร้อยละ 70-80 ต้องตกงาน ส่วนที่เป็นเจ้าของกิจการนั้นส่วนใหญ่เป็นรายเล็กเป็นเอสเอ็มอี มีจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการไป เพราะแบกรับปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่าต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการในที่ประชุมได้สะท้อนว่า ต้องการเห็นมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ที่สามารถแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อน ได้อย่างครอบคลุมในทุกกลุ่มของการท่องเที่ยว ไม่เพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากนั้นยังอยากเห็นการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลืออย่างตรงจุด รวมทั้งการบริหารจัดการที่ต้องมีความสมดุลระหว่างมาตรการสาธารณสุข กับ การเปิดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว
ประเด็นข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจและเห็นด้วยอย่างยิ่ง คือ นอกจากที่ผู้ประกอบการต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในเรื่องสภาพคล่องให้เพียงพอแล้ว ที่พวกเขาต้องการอย่างมากก็คือ ความช่วยเหลือในเรื่องการเติมทุนใหม่ เพื่อให้สามารถฟื้นกิจการและพร้อมที่จะก้าวเดินหน้าต่อไป เมื่อโควิดทุเลาลง
ในการหารือ ผมและทีมของพรรค จึงได้นำเสนอแนวความคิด ยุทธศาสตร์ “รีสตาร์ท ท่องเที่ยวไทย” เพราะเห็นพ้องกับผู้ประกอบการว่า ในวิกฤตครั้งนี้ เป็นโอกาสของการยกระดับการท่องเที่ยวไทยด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ความได้เปรียบ เรื่องทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว ที่มีมากมายในทุกภูมิภาคก็ว่าได้ ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของประเทศ ที่จะพัฒนายกระดับการท่องเที่ยว ให้สามารถเป็นเครื่องยนต์ที่ทรงพลัง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง
ในแนวคิด “รีสตาร์ท ท่องเที่ยวไทย” เรามุ่งเน้นการสร้างโอกาส โดยพิจารณาจัดตั้งกลไกในการเติมทุนให้ผู้ประกอบการ ทั้งเพื่อแก้ไขบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า และเป็นการเติมทุนใหม่ เพื่อการพัฒนา 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. เพื่อซ่อมแซมยกระดับสถานที่ประกอบการและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว
2. เพื่อจัดหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการบริการและแสวงหาตลาด
3. เพื่อการพัฒนาบุคลากรทุกกลุ่มในห่วงโซ่ธุรกิจการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น มัคคุเทศก์ ผู้ให้บริการรถรับส่งนักท่องเที่ยว ผู้ให้บริการด้านนวดสุขภาพ สปา ฯลฯ
4. เพื่อรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวให้ยั่งยืน
โดยกลไกที่เหมาะสมนั้น ได้แก่การจัดตั้งกองทุน “สร้างอนาคตท่องเที่ยวไทย” วงเงิน 2 หมื่นล้าน ซึ่งหากจำกันได้ เมื่อครั้งที่ผมและคณะไปเยือนสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้มีการเสนอตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีไทย วงเงิน 2 แสนล้านบาท โดยเราสามารถจะกันวงเงินมา 2 หมื่นล้านบาท เพื่อดูแลผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ก็อยู่ในภาคท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
อีกประเด็น ที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจ และควรสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของการสร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานราก สำหรับชุมชนทั่วประเทศ โดยพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยึดโยงเข้ากับอีก 2 เสาหลักของชุมชน คือ การเกษตร และวิสาหกิจการผลิตชุมชน เพื่อบูรณาการ 3 เสาหลักให้เป็นฐานที่เข้มแข็ง ในการสร้างงาน สร้างโอกาสใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องให้กับชุมชน โดยพร้อมกันนั้น ควรมีการวางยุทธศาสตร์ระดับชาติ ด้านเส้นทางคมนาคม ให้สอดรับสนับสนุนกับการพัฒนา 3 เสาหลักในระดับฐานรากด้วย ซึ่งจะเป็นการกระจายความมั่งคั่งมั่นคง ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งต่อไปในอนาคต
ผมเชื่อว่าทุกคนที่ประชุมในวันนั้น พร้อมเดินหน้าทำงานด้วยกัน รวมถึงเชื่อมโยงกับกลุ่มและองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย ซึ่งทีมพรรคสร้างอนาคตไทย ก็จะเดินหน้าพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นระดมสมอง เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “รีสตาร์ท ท่องเที่ยวไทย” ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว และพี่น้องประชาชนคนไทยในภาพรวม ที่ต้องการก้าวพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ พร้อมสามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่จับต้องได้ต่อไป
ขอขอบคุณ คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาฯ ทุกท่าน ที่เปิดโอกาสให้พรรคสร้างอนาคตไทย ไปรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่าหากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน จะสามารถฟื้นฟูและพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวไทยได้อย่างแน่นอน