สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ประกาศจะปรับขึ้นค่าขนส่งทั่วประเทศอีก 15-20% ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 จากแบกรับภาระค่าน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญไม่ไหว ขณะที่ผลการสำรวจผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 150 ราย ระบุผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ และต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นจากราคาพลังงานงาน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายด้านแรงงานได้ส่งผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการสัดส่วน 40% คาดจะตรึงราคาสินค้าได้อีก 1-2 เดือน และ 30.7% จะตรึงได้อีก 3-4 เดือน
ล่าสุดเพื่อช่วยลดภาระประชาชน ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ผลิตสินค้า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 15 ก.พ. 2565 ได้มีมติปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงในอัตรา 3 บาทต่อลิตร(จากปัจจุบันเก็บภาษีที่ 5.99 บาทต่อลิตร) เป็นเวลา 3 เดือน (จะส่งผลให้ราคาดีเซลเหลือลิตรละ 26.94 บาท) นับแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร ทางสหพันธ์ฯจะชะลอการปรับขึ้นค่าขนส่ง 15-20% ออกไปก่อน จากปัจจุบันประชาชนมีค่าครองชีพที่สูงได้รับความลำบากมากอยู่แล้ว หากมีการปรับขึ้นค่าขนส่งจะกระทบห่วงโซ่อุปทาน(ซัพพลายเชน) และราคาสินค้าทั้งระบบ ที่ผ่านมาแม้ทางสหพันธ์ฯยังไม่ได้มีการประกาศปรับขึ้นค่าขนส่ง แต่ราคาสินค้าก็มีการปรับขึ้นไปแล้ว
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีการปรับขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง ทางสหพันธ์ฯจะตรึงราคาค่าขนส่งได้อีกนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะที่ผ่านมาหลายรัฐบาลก็เคยเจอปัญหานี้ แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง บางรัฐบาลลดภาษีนานกว่า 1 ปี ราคาดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 20 บาท
“สิ่งที่เป็นปัจจัยหลักของภาคขนส่งคือน้ำมันดีเซล จุดคุ้มทุนของเราอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร สิ่งที่เราเรียกร้องเป็นการสะท้อนต้นทุน แต่เมื่อสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย เราได้ช่วยแบกรับภาระค่าขนส่งมาโดยตลอด”
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ค่าขนส่งยังไม่ปรับขึ้นจากเดิม จะช่วยตรึงราคาสินค้าและลดภาระราคาน้ำมันของประชาชนลง และจะส่งผลทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เตรียมปรับขึ้นราคา ชะลอเรื่องนี้ออกไปได้อีกระยะหนึ่ง
“จากที่รัฐบาลได้ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร สถานะ ณ เวลานี้กองทุนฯติดลบแล้วมากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท และต้องหาเงินกู้มาเพื่อพยุงราคาต่อไป จากเวลานี้ราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ล่าสุดขึ้นไปแตะที่ 94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล (14 ก.พ.) และมีแนวโน้มอาจขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามที่หลายสำนักเศรษฐกิจได้คาดการณ์ไว้”
ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบจะปรับขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่ และราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยจะปรับขึ้นไปอีกหรือไม่นั้น เวลานี้ขึ้นกับ 3 ปัจจัยได้แก่ 1.อุปสงค์-อุปทานของตลาดโลก 2.การผลิตและการกำหนดราคาของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และ 3.สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากผลเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน และการเจรจาระหว่างรัสเซียกับเยอรมนี (เยอรมนีเป็นผู้มีส่วนได้เสียรายสำคัญบนความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน) คลี่คลายไปในทางที่ดี สามารถประนีประนอมไม่ให้รัสเซียบุกยึดยูเครนได้ ราคาน้ำมันตลาดโลกคงไม่ปรับขึ้นไปมากกว่านี้ แต่หากยังมีแนวโน้มสู่การใช้กำลังและความรุนแรงจะมีผลทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นไปอีก ต้องจับตาใกล้ชิด
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากรัสเซียเดินหน้าบุกยึดครองยูเครน จะส่งผลกระทบต่อโลกและไทยคือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นโดย JP Morgen คาดจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล 2.ราคาสินค้าเกษตรจะปรับสูงขึ้น จากยูเครน รัสเซีย และยุโรปเป็นประเทศผลิตข้าวโพด ข้าวสาลี รายใหญ่ของโลก จะกระทบราคาอาหารโลกปรับสูงขึ้น รวมถึงราคา ปุ๋ย เหล็ก ทองคำจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน และทำให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น
3.จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก การค้าขายโลกจะชะลอตัว การส่งออกไทยไปตลาดโลกจะได้รับผลกระทบ และ 4.การส่งออกไทยไปรัสเซียและยูเครนจะได้รับผลกระทบตามมา (ปี 2564 ไทยส่งออกไปรัสเซีย 32,508 ล้านบาท และยูเครน 4,229 ล้านบาท รวม 36,737 ล้านบาท)
หน้า 1หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3758 วันที่ 17 – 19 กุมภาพันธ์ 2565