โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐยังคงหอมหวล และเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.2563 - ก.ย. 2564) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ระบุหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วทั้งสิ้น 5.22 ล้านโครงการ คิดเป็นร้อยละ 98.34 ของโครงการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด มีมูลค่าการจัดหาพัสดุที่เกี่ยวข้องได้ 1.33 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคเอกชนคาดในปีงบประมาณ 2565 โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะมีมูลค่า 1.5 -1.7 ล้านล้านบาท เป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายต้องแย่งชิง
นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานสายงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้อนุมัติยกเว้นและกำหนดแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 วัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการสมยอมกันในการเสนอราคาของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม
แห่ชิงเค้ก 1.7 ล้านล้าน
ล่าสุดคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐได้พิจารณายกเลิกแนวทางแนวทางปฏิบัติบางส่วนแต่ยังคงให้แต้มต่อกับสินค้าที่ได้รับรองเครื่องหมาย Made in Thailand หรือ MiT จาก ส.อ.ท. ในการเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งจะยังส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่ได้รับรองเครื่องหมาย MiT ยังมีแต้มต่อในการแข่งขันและมีโอกาสในการได้รับการพิจารณาคัดเลือกก่อน เฉพาะอย่างยิ่งข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SMEs เป็นลำดับแรกก่อน
“ปัจจุบันมีสินค้าจากผู้ประกอบการทั้งที่เป็นสมาชิก และไม่ใช่สมาชิกของ ส.อ.ท. ได้รับรองเครื่องหมาย MiT หรือ เมด อิน ไทยแลนด์ (ใช้วัตถุดิบในประเทศไม่ต่ำกว่า 40%) แล้วกว่า 3 หมื่นรายการ รวมกว่า 3,000 บริษัท ซึ่งจากที่ยังได้แต้มต่อ 5% คาดจะมีผู้ประกอบการมายื่นขอรับรอง MiT มากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2565 นี้เท่าที่ทราบจะมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ จัดจ้างก่อสร้าง และการจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้างประมาณ 1.5 - 1.7 ล้านล้านบาท”
จากคาดการณ์มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวในปีนี้ คาดสินค้าที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย MiT จะสามารถคว้างานมาได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ตัวอย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเฟสแรกมูลค่าโครงการกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท หากทำตามกฎกระทรวงฯ ที่ต้องใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 อย่างน้อย โครงการนี้ผู้ประกอบการในประเทศจะได้รับประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท
SMEs คาดคว้าได้ 3 แสนล้าน
ด้านนายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ประธานบอร์ด สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับรองการขึ้นทะเบียนเพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) แล้ว 124,182 สถานประกอบการ รวมสินค้ากว่า 6 แสนรายการ ในจำนวนนี้อยู่ในภาคการผลิตสัดส่วน 9% ภาคการค้า 42% ภาคบริการ 47% และภาคธุรกิจการเกษตร 2% โดยในปีงบประมาณ 2564 สินค้าและบริการ THAI SME-GP ได้ประโยชน์จากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากกว่า 3 แสนล้านบาท คาดปีนี้จะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี จากการที่กรมบัญชีกลางได้ยกเลิกแนวทางปฏิบัติตาม ว845 (การจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุดที่ กค. (กวจ) 0405.2/ว845 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 และให้ใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค. (กวจ) 0405.2/ว78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2565 เป็นต้นไปนั้น ทั้งนี้ได้ยกเลิกเงื่อนไขหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SMEs ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณที่ตรงกับการขึ้นทะเบียนสินค้าหรืองานบริการที่ สสว.กำหนด เรื่องนี้ทาง สสว. ขอให้ทางกระทรวงการคลังได้ทบทวน ซึ่งทางกระทรวงได้รับทราบและกำลังทบทวนเพื่อแก้ไข
วัสดุก่อสร้างสะพัด 2 แสนล้าน
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรณีกรมบัญชีกลาง ปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุเพื่อแก้ปัญหาการสมยอมราคาหรือฮั้วประมูลโดยมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและสามารถช่วยสนับสนุนผู้รับเหมารายกลางรายเล็กในพื้นที่ให้ได้งานมากขึ้นกล่าวคือ งานเกิดในท้องที่ใด เอกชนที่มีสิทธิ์ลงแข่งขันต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่นั้นเพื่อให้เกิดการจ้างงานส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนเวียนลงระบบฐานราก แต่ประเด็นที่อาจสร้างผลกระทบตามมาให้กับผู้รับเหมาคือ การกำหนดเกณฑ์ต้องใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นองค์ประกอบของการก่อสร้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
ทั้งนี้โครงการขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศมองว่าเป็นการกำหนดสัดส่วนที่สูงเกินไป ที่สำคัญก่อให้เกิดการฮั้วกันเองระหว่างผู้รับเหมากับกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ ภายในประเทศ สำหรับปริมาณโครงการจัดจ้างก่อสร้างของภาครัฐต่อปี มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท การใช้วัสดุก่อสร้างเป็นองค์ประกอบหลักไม่เกินร้อยละ 30-40 คาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายวัสดุในประเทศกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เช่น อิฐ หิน ทราย ปูนซิเมนต์ เหล็ก ฯลฯ ขณะสิ่งที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและอาจต้องอยู่ในข่ายควบคุมจะเป็นอุปกรณ์เครื่องจักร ซึ่งต่อไปอาจใช้วิธีประกอบในประเทศ
“ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างใหม่ จากโครงการรัฐส่วนใหญ่จะมีการจ้างออกแบบก่อนล่วงหน้า รวมถึงการกำหนดสเปกวัสดุก่อสร้างก่อนมีการประมูล หากกฎระเบียบมีผลปฎิบัติทันที มองว่าจะมีหลายโครงการต้องกลับไปปรับแก้แบบ ส่วนเหตุผลที่ผู้รับเหมาใช้วัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศ เพราะบางรายการมีต้นทุนที่ถูกกว่าในไทย ถึง 30% เช่น เหล็ก เป็นต้น ดังนั้นหลักเกณฑ์ที่ออกมาควรควบคุมไปถึงกลุ่มออกแบบไม่ใช่เพียงกลุ่มรับเหมาเท่านั้น อย่างไรก็ตามสมาคมฯ ขอผ่อนปรนกรมบัญชีกลางว่า การบังคับใช้ควรจะรอให้เอกชนและหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมความพร้อมก่อนอย่างน้อย 1 ปี” นางสาวลิซ่า กล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3759 วันที่ 20 – 23 กุมภาพันธ์ 2565