สภาพัฒน์ แนะ 9 แนวทางประคองเศรษฐกิจไทย 2565 โต 4%

21 ก.พ. 2565 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 12:51 น.

เลขาธิการ สภาพัฒน์ฯ เปิดข้อแนะนำในการบริหารนโยบายทางด้านเศรษฐกิจในปี 2565 หากต้องขยายตัวได้ 4% มี 9 แนวทางที่ทุกหน่วยงานควรต้องเร่งทำ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ให้ได้ตามเป้าหมาย

หลังจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 /2564 ขยายตัว 1.9% ส่งผลให้ทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 1.6%

 

ส่วนในปี 2565 ยังคงประเมินแนวโน้มว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5 – 4.5% หรือขยายตัวประมาณ 4%

 

อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น นับว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยยังพบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงข้อแนะนำในการบริหารนโยบายทางด้านเศรษฐกิจในปี 2565 ให้สามารถขยายตัวได้ 4% ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ ดังนี้ 

 

1. การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด 

 

2.การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ประกอบด้วย

  • การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และมาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงและในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว
  • การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม
  • การเร่งรัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ

3. การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยต้องติดตามเรื่องต่าง ๆ คือ

  • การติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
  • การดูแลกลไกตลาดเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
  • การพิจารณาการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน เพื่อรองรับแรงงานย้ายกลับภูมิลำเนา 

 

4. การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการจูงใจในการชำระหนี้และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ 

 

สศช. แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

5. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า โดยมีเรื่องต้องติดตามคือ 

  •  การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลัก ควบคู่กับการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพและการสนับสนุนการค้าชายแดน
  • การพัฒนาสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพและมาตรฐาน
  • การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์
  • การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา
  • การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต 

 

6. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยมีเรื่องต้องติดตามคือ 

  • การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง
  • การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ
  • การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก
  • การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
  • การลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ
  • การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

 

7. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

 

8.การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ 

 

9. การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ