สภาพัฒน์ ถก คลัง-ธปท. พร้อมออกมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน

21 ก.พ. 2565 | 07:59 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 15:06 น.

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ยอมรับคุยกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. แล้ว เตรียมพร้อมออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม คาดว่า จะได้ข้อสรุปโดยเร็ว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศช.กำลังหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดนจะออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นแบบเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย คาดว่าเร็ว ๆ นี้จะได้ข้อสรุป

 

ทั้งนี้ สศช. มองว่า ในแนวทางแก้ปัญหา จะต้องดูมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เบื้องต้นจะเป็นมาตรการที่ใช้เฉพาะกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การแก้ปัญหาทำได้ตรงจุด โดยการพิจารณาออกมาครั้งนี้จะไม่ใช้มาตรการเดิม เช่น การพักชำระหนี้ เพราะจะมีความเสี่ยงทำให้เกิด Moral Hazard หรือเกิดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกหนี้ดีไม่ชำระหนี้ตามปกติขึ้นในระบบ

ก่อนหน้านี้ เลขาธิการ สศช. ระบุกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง แนวทางการออกมาตรการเพิ่มเติมมาช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้ ว่า มาตรการนี้ จะเป็นมาตรการเพิ่มเติมมาช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้สถาบันการเงิน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเป็นการช่วยลดภาระการผ่อนชำระ เพื่อให้ลูกหนี้นำเงินไปใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นกับการดำรงชีพในระยะสั้นก่อน

 

เบื้องต้น คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการคงต้องคัด คือเป็นลูกหนี้ที่ผ่อนชำระดีมาตลอด หรือกลุ่มที่เคยปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วแต่ไปต่อไม่ไหว อาจต้องมีมาตรการมาช่วยให้คนกลุ่มนี้ยังสามารถยืนต่อไปได้

 

โดยอาจไม่ใช่มาตรการพักชำระหนี้เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ เพราะหากทำรูปแบบเดิมอาจมีความเสี่ยงทำให้เกิด Moral Hazard ขึ้น

สำหรับเหตุผลของการพิจารณาออกมาตรการมาช่วยเหลือ เพราะว่าที่ผ่านมา สศช. พบข้อมูลที่น่าเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานะการณ์หนี้ครัวเรือน แม้ว่าในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสจะเพิ่มสูงขึ้นไม่มาก แต่หากมองคุณภาพของหนี้แล้ว ตอนนี้เริ่มเห็นว่ามีปัญหา โดยเฉพาะหนี้เพื่ออุปโภคและบริโภคของภาคประชาชน หากไม่มีมาตรการออกมาช่วย ก็ทำให้เกิดปัญหา และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้

 

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยปัจจุบัน มีข้อมูล ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 89.3% โดยที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2565 ประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2565 ที่กรอบ 90-92% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ในปี 2564 ที่ 90.5%