นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ชาไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งผลิตและปรุงชาผสมหลากหลายรสและกลิ่น ทั้งชาแดง ชาเขียว ชาอู่หลง ชากุหลาบ และชาอัญชัน ภายใต้แบรนด์ “ชาตรามือ”
โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงวัตถุดิบใบชาในจังหวัดโดยรอบ อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และพะเยา ซึ่งปัจจุบันบริษัทขยายธุรกิจไปไกล มีการส่งออกและเปิดแฟรนไชส์ร้านชาตรามือในหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง บรูไนฯ และกัมพูชา เป็นต้น
จากการหารือครั้งนี้ พบว่า บริษัทสนใจข้อมูลความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้า ซึ่ง 15 ประเทศคู่ FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าชาปรุงแต่งและชาสำเร็จรูปที่ส่งออกจากไทยแล้ว ยังเหลืออินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ยังคงเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 3-30% ขณะเดียวกันยังสนใจข้อมูลกฎระเบียบด้านมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ บังคับใช้กับผลิตภัณฑ์ชาผสม เพื่อที่จะพัฒนาสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสขยายส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้กรมฯ ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัท ชาดอยช้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชาออร์แกนิกคุณภาพสูง เน้นการใช้ปุ๋ยชีวภาพอินทรีย์บริสุทธิ์ กำจัดแมลงศัตรูพืชและวัชพืชโดยวิธีธรรมชาติ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มสารอนุมูลอิสระให้ใบชา ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ สร้างแต้มต่อชาไทย ขยายตลาดส่งออก เพื่อหารือแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการชาในประเทศ ซึ่งพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคชา โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งเป็นประเทศที่นิยมบริโภคชาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ชาออร์แกนิกมากขึ้น เนื่องจากให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ แต่ผลผลิตชาออร์แกนิกในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการชาไทยที่จะเร่งพัฒนาสินค้าชาและผลิตภัณฑ์ชาออร์แกนิกคุณภาพสูง เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคสินค้าชาพรีเมี่ยมในจีน โดยผู้ประกอบการชาชาวไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีน ซึ่งจีนได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าให้ไทยแล้ว เพื่อเป็นแต้มต่อในการส่งออกสินค้าชาและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดจีน และอาเซียน
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าชาสำเร็จรูป อันดับที่ 1 ของอาเซียน และอันดับที่ 8 ของโลก โดยในปี 2564 ไทยส่งออกชาสำเร็จรูปสู่ตลาดโลกปริมาณ 10.6 ล้านตัน มูลค่า 38.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19% จากปี 2563 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 19.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 6.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ญี่ปุ่น มูลค่า 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน มูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกง มูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกใบชาเขียวและชาดำสู่ตลาดโลกปริมาณ 3.5 พันตัน มูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.9% จากปี 2563 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อาเซียน มูลค่า 14.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจีน มูลค่า 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ