ผู้สื่อข่าวรายงาน บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด(มหาชน) หรือ SPRC ได้ออกแถลงการณ์ ว่า ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง วิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด
เริ่มขั้นตอนแรกของปฏิบัติการอุดรอยรั่วของท่ออ่อนใต้ทะเล เพื่อป้องกันการรั่วไหลที่เพิ่มขึ้นจากท่ออ่อนที่เสียหาย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ โดยจะมีการนำท่ออ่อนดังกล่าวไปตรวจสอบหาสาเหตุของการเกิดรอยรั่วต่อไป
แผนปฏิบัติการปิดจุดรั่วไหลของท่ออ่อนใต้ทะเลในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ การฉีดน้ำยากันรั่วที่วาล์ว การดูดน้ำมันออกจากท่อที่ได้รับความเสียหาย และการพันรอยรั่วทั้ง 2 จุด โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้จะอยู่ภายใต้การควบคุม และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ บริษัทผู้ผลิตท่อส่งน้ำมัน
รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผน ในการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายท่ออ่อนทั้งหมดที่บริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลอย่างปลอดภัยที่สุด
โดยภารกิจ เริ่มต้นช่วงสายวันที่ 22 ก.พ.2565 จากการดำน้ำรอบแรก ตามแผนงาน เริ่มจากการดำน้ำใต้ทุ่น เพื่อพานักดำน้ำ และยานสำรวจใต้น้ำของเรือหลวง "หนองสาหร่าย" กองทัพเรือ สำรวจดูสภาพแวดล้อม และลักษณะต่าง ๆ ใต้ทุ่น เพื่อให้มีความคุ้นเคย
จากนั้น เป็นแผนงานการดำน้ำรอบต่อ ๆ ไป จะดำน้ำตามสโคปของงาน เพื่อดำเนินการปิดวาล์วจำนวน 3 ตัว โดยเริ่มจากการฉีดน้ำยากันรั่วซึม สำหรับแผนปฎิบัติการ จะใช้เวลาประมาณ 11 วัน และแผนการอุดรอยรั่วจะใช้เวลา 3 วัน แต่ปัจจัยอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ คลื่น ลม และอื่น ๆ ร่วมด้วย ว่าจะมีอุปสรรคหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ภารกิจในส่วนการใช้ยานสำรวจใต้น้ำ วันแรกมีอุปสรรคที่อยู่ใต้น้ำ จึงยังไม่ได้ใช้สำรวจ โดยจะให้นักดำน้ำสำรวจประเมินไปก่อน
ทั้งนี้ กองทัพเรือส่งเรือหลวง “หนองสาหร่าย” พร้อม“ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด” สนับสนุนภารกิจ สำรวจจุดเกิดเหตุท่อน้ำมันรั่วใต้ทะเล ของ SPRC เตรียมพร้อมปฏิบัติการทันที ในการช่วยสนับสนุนภารกิจการสำรวจความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับท่อส่งน้ำมันดิบในจังหวัดระยอง ที่มีความลึก 27-30 เมต
ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนกับสภาพความเสียหาย และกำหนดแนวทางการเข้าไปอุดท่อได้ แทนการใช้นักประดาน้ำที่อาจมีความเหนื่อยล้า จากระดับน้ำที่ลึกระดับนี้
ยานล่าทำลายทุ่นระเบิด ภารกิจปกติจะใช้ในการค้นหาทุ่นระเบิดใต้น้ำ เพื่อพิสูจน์ทราบว่าเป็นทุ่นระเบิดจริง เป็นการมองเห็นด้วยสายตาผ่านกล้อง และจะดำน้ำได้ลึกสุดประมาณ 30 0เมตร
ขณะที่ กรมเจ้าท่า โดยนายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดี ได้แถลงยืนยันว่า ในระหว่างที่ยังรอการเข้ามาอุดรอยรั่วของบริษัท และ ต้องดูดน้ำมันออกให้หมดก่อนนั้น ทีมเรือตรวจการณ์ของกรมเจ้าท่า ก็ยังต้องเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง ได้ร่วมกับบริษัท และ ฝ่ายเกี่ยวข้อง ใช้เรือทั้งหมด 24 ลำ ปฎิบัติภารกิจช่วงนี้
ในจำนวนนี้ ใช้เรือ 16 ลำ กางอุปกรณ์"บูม" กั้นคราบน้ำมันในทะเล จำนวน 8 เส้น ใช้เรือเฝ้าระวัง อีก 6 ลำ เรือสั่งการ 1 ลำ และ บินโดรนอีก 1 ลำ เพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดคราบน้ำมัน ที่จะพัดเข้าหาชายฝั่ง