นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรม ได้ ผลักดันการแก้ไขพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ทันกับการค้ายุคดิจิทัล โดยเฉพาะมาตรการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น Facebook YouTube สามารถนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ทันทีเมื่อได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล
ทำให้สามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ได้อย่างท่วงที อีกทั้งยังเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีศักยภาพของไทยซึ่งมีมูลค่ากว่า 209,000 ล้านบาท ให้ก้าวไปสู่ระดับโลก
โดยนำต้นทุนทางวัฒนธรรม ค่านิยม และความเป็นไทย มาต่อยอดและส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ๆ รุกตลาดซื้อขายผลงานศิลปะในโลกดิจิทัล ผลงาน NFT รองรับการค้าในโลก Metaverse ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานลิขสิทธิ์ของไทยมากขึ้น
โดยกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ 23 สิงหาคมนี้ คาดช่วยระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างทันท่วงที รองรับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล และการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ระดับโลก
นอกจากมาตรการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์แล้ว กฎหมายดังกล่าวยังมีการขยายอายุความคุ้มครองงานภาพถ่ายไปตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปี หลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ซึ่งศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์จะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุด กฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ระหว่างนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าเตรียมความพร้อมสำหรับ
การออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และเตรียมยื่นภาคยานุวัติสารสำหรับการเข้าเป็นภาคี WCT ของประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ กรมฯ ขอขอบคุณหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่เล็งเห็นความสำคัญและร่วมผลักดัน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับนี้ให้สำเร็จลุล่วง