รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ในไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.64) ประจำปี 64 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มดำเนินมาตรการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการกับนักท่องเที่ยวที่มีต้นทางมาจาก 63 ประเทศทั่วโลกได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 โดยภาพรวมไตรมาสที่ 4 มีผู้โดยสาร 8.76 ล้านคน เพิ่มขึ้น 627.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินมี 8.77 หมื่นเที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 192.6% และปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ มี 3.14 แสนตัน เพิ่มขึ้น 12.8%
สำหรับท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสาร และปริมาณเที่ยวบินสูงที่สุดในไทย 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) มีผู้โดยสาร 2.53 ล้านคน ลดลง 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 2.ท่าอากาศยานดอนเมือง(ทดม.) มีผู้โดยสาร 1.91 ล้านคน ลดลง 52.6% และ 3.ท่าอากาศยานภูเก็ต(ทภก.) มีผู้โดยสาร 8.56 แสนคน ลดลง 7.6% ทั้งนี้ในภาพรวมจะเห็นได้ว่าท่าอากาศยานที่พึ่งพาสัดส่วนของผู้โดยสารภายในประเทศเป็นหลัก จะฟื้นตัวช้ากว่าท่าอากาศยานที่มีสัดส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยท่าอากาศยานสมุย เป็นท่าอากาศยานเพียงแห่งเดียวที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 0.8% โดยมีผู้โดยสารประมาณ 1.44 แสนคน
ส่วนภาพรวมการแข่งขันของเส้นทางบิน พบว่า สายการบินที่มีสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.สายการบินไทยแอร์เอเชีย ขนส่งผู้โดยสาร 2.10 ล้านคน คิดเป็น 27.4%, 2.สายการบินไทยเวียตเจ็ท ขนส่งผู้โดยสาร 1.77 ล้านคน คิดเป็น 23% และสายการบินไทยสมายล์ ขนส่งผู้โดยสาร 1.35 ล้านคน คิดเป็น 17.5% ส่วนสัดส่วนการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ สูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.สายการบินไทย ขนส่งผู้โดยสาร 1.42 แสนคน คิดเป็น 16.5%, 2.สายการบินเอมิเรตส์ ขนส่งผู้โดยสาร 1.03 แสนคน คิดเป็น 12% และสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ ขนส่งผู้โดยสาร 9.05 หมื่นคน คิดเป็น 10.5%
อย่างไรก็ตามแม้ไตรมาสที่ 4 จะมีการฟื้นตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เมื่อพบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในไทย ช่วงปลายเดือน ธ.ค.64 ทำให้มีการชะลอ และเปลี่ยนแปลงนโยบายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยยกเลิกการลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go และเพิ่งกลับมาให้ลงทะเบียนได้อีกครั้งเมื่อต้นเดือน ก.พ.65 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสาร โดยเฉพาะผู้โดยสารในเที่ยวบินระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 1 ปี 65 (ม.ค.-มี.ค.65) แน่นอน ทั้งนี้ข้อมูลจาก FlightAware ระบุด้วยว่า มีเที่ยวบินที่ถูกยกเลิกมากกว่า 6,000 เที่ยวบินทั่วโลกจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของสายพันธุ์โอมิครอน.