นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามผลการประเมินคุณภาพสถานีรถไฟสายสีแดง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางราง และการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ว่า กระทรวงคมนาคมได้เริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยปัจจุบันรถไฟสายสีแดงมียอดผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้โดยเฉพาะเส้นทางสายตะวันตก (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) จึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องและทำการปรับรูปแบบตารางการเดินรถไฟให้มีความเหมาะสมกับปริมาณผู้ใช้บริการและเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยมีรอบความถี่ที่ 20 นาทีต่อขบวนในช่วงเวลาเร่งด่วน (7.00 – 9.30 น. และ 17.00 – 19.30 น.) และรอบความถี่ที่ 30 นาทีต่อขบวนนอกช่วงเวลาเร่งด่วน โดยให้เก็บข้อมูลการให้บริการในทุกมิติ นำมาวิเคราะห์ และบริหารการเดินรถ เพื่อให้รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นทางเลือกให้กับประชาชนใช้ในการเดินทางมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด ลดค่าครองชีพ
ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบผลการประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางรางตลอดจนระบบการเดินทางเชื่อมต่อและประเมินระดับคุณภาพ โดยผลการประเมินความพร้อมการให้บริการของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และความพร้อมสถานีกลางบางซื่อยังอยู่ในเกณฑ์ระดับพอใช้ ซึ่ง”ได้สั่งการให้ รฟท. ดำเนินการปรับปรุง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพกายภาพ ด้านระบบการให้ข้อมูลและป้ายสัญลักษณ์ ด้านระบบเชื่อมต่อการเดินทาง ด้านความปลอดภัย และด้านการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น แก้ไขปัญหามอเตอร์ไซค์รับจ้างเถื่อน และการบุกรุกพื้นที่ เป็นต้น เพื่อยกระดับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพต่อไป”
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้รับทราบความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วมของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดย พร้อมจะเปิดให้บริการชำระค่าโดยสารด้วยบัตร EMV Contactless ได้ภายในเดือนมีนาคม 2565 และรวมถึงกำหนดการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 6 เมษายน 2565 ณ สถานีกลางบางซื่อ
อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ รฟท. เน้นการสร้างความรับรู้ของประชาชน โดยประชาสัมพันธ์ให้มีความถี่ที่มากขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในเรื่องเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟชานเมืองสายสีแดงเพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง เช่น การเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รวมถึงการพัฒนาระบบ Feeder และการดำเนินการ เชิงรุก เช่น การขยายพื้นที่การจำหน่ายบัตรโดยสารในจุดต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย สถานที่ทำงาน ศูนย์การค้า เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้สามารถเชื่อมต่อกับการบริการระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น ๆ ให้เป็นรูปธรรมต่อไป และมีข้อสั่งการเพิ่มเติมในการลดผลกระทบจากการเดินรถไฟทางไกลเมื่อเปิดการให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยให้สำรวจเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ให้รอบด้านเพื่อเสนอทางเลือกการดำเนินการในกรณีต่าง ๆ ให้ประชาชนรับทราบและพิจารณาถึงผลดีและผลเสีย เพื่อที่จะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้านก่อนจะดำเนินการต่อไป