ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

04 มี.ค. 2565 | 06:47 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2565 | 14:07 น.

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28% ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นเช่นกัน  คาดทั้งปีเงินเฟ้อยังคงมีความเสี่ยง ซึ่งจะปรับตัวเลขคาดการณ์อีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ( สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 104.10 (ปี 2562 = 100) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) สาเหตุหลักยังคงมาจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

นอกจากนี้ ฐานราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ต่ำสุดในรอบปี 2564 ซึ่งส่งผลให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นด้วย สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้นร้อยละ 1.80 (YoY) จากร้อยละ 0.52 ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นเพียงร้อยละ 1.06 (MoM) เนื่องจากราคาเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ลดลง

 

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนนี้ ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) มีสาเหตุจากสินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 29.22 จากร้อยละ 19.22 โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

รวมถึง ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 4.51 จากร้อยละ 2.39 ในเดือนก่อนหน้า อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ผักสด อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

ซึ่งปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น นอกจากนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 5.28 (YoY) ยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนต่ำสุดในรอบปี 2564 อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาปรับลดลง ทั้ง ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียน จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาราคาสินค้าแพงในช่วงระยะเวลานี้ได้เป็นอย่างดี

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.06 (MoM) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว จากร้อยละ 1.13 ในเดือนก่อนหน้า ตามการลดลงของเนื้อสุกร ผักสด และผลไม้ รวมทั้ง การสูงขึ้นในอัตราที่น้อยลงของไก่สด ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิง จากมาตรการของกระทรวงพาณิชย์ และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเป็นสำคัญ และเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค.- ก.พ.) 2565 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 4.25 (AoA)

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้นร้อยละ 9.4 (YoY) จากร้อยละ 8.7 ในเดือนก่อนหน้า จากต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ประกอบกับฐานราคาปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตสูงขึ้น ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้นร้อยละ 6.7 (YoY) จากร้อยละ 6.1 ในเดือนก่อนหน้า ตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็ก อลูมิเนียม และน้ำมัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 44.6

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังมีเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น (ข้อมูลล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2565) ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ รายได้เกษตรกร ยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น ด้านอุปทาน ได้แก่ กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเครื่องชี้วัดเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนมีนาคม 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง ตามราคาพลังงานที่ยังสูง (น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทาง

ราคามันดันเงินเฟ้อเดือนก.พ.พุ่ง 5.28%

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร ผักสด ผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยง และเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ซึ่งจะประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์ให้มีความเหมาะสมในเดือนมีนาคม 2565