เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย โดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (ภาคใต้)
โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กล่าวรายงานฯ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัด ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง ณ โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการ ดำเนินการขับเคลื่อนโดยมีศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.)
ในการนี้นายสมเกียรติ ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง พร้อมด้วย นายปิยพงศ์ ชูวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายบุญชัย สมใจ ปลัดจังหวัดระนอง นายปลื้ม นับถือบุญ พัฒนาการจังหวัดระนอง นางจุฬาภรณ์ จันทนา ท้องถิ่นจังหวัดระนอง นางณัษฐพร ชูวงศ์ ผู้แทนประธานแม่บ้านมหาดไทย และนายอำเภอทุกอำเภอ เข้าร่วมประชุมตามโครงการฯ ดังกล่าว
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ต่อกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย การขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ในการวิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข การบูรณาการความช่วยเหลือทั้ง 5 มิติ การจัดทำฐานข้อมูล การบันทึกข้อมูลในระบบ logbook
รวมถึงการติดตามการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรม และเกิดการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศ ในทุกมิติได้อย่างแท้จริง
สำหรับแนวทางการขับเคลื่อน มีแนวทางการขับเคลื่อนผ่าน 4 แนวทาง 1 เงื่อนไขการพัฒนา ดังนี้
(1) การเติมเต็มข้อมูลให้ครอบคลุมประเด็นการพัฒนาทุกมิติและทุกพื้นที่ในประเทศ
(2) ร่วมแก้ไขปัญหาในระดับบุคคล/ครัวเรือน ด้วยการลงพื้นที่แก้ไขปัญหาความยากจน ในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ ทั้งกลุ่มเป้าหมายในระบบ TPMAP ที่มีปัญหาความยากจนใน 5 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ จำนวน 983,316 คน กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบ (exclusion error) และกลุ่มคนเปราะบาง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถอยู่รอดและดำรงชีพอยู่ได้
(3) ร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยให้ ศจพ. ทุกระดับ ร่วมกับทีมปฏิบัติการฯ และภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ และให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และข้อเท็จจริงของกลุ่มเป้าหมายและบริบทของแต่ละพื้นที่ต่อไป
(4) ร่วมติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนา โดยใช้ระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือสนับสนุนการแก้ไขปัญหา ความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ