เทรนด์การค้าในตลาดคาร์บอนต่ำ ปรับตัวใช้นวัตกรรม และเทคโนฯในการผลิต

11 มี.ค. 2565 | 10:41 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 22:17 น.

เทรนด์การค้าในตลาดคาร์บอนต่ำปรับตัวใช้นวัตกรรมและเทคโนฯในการผลิต ไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซฯ ลง 40% ภายในปีพ.ศ. 2573 และมุ่งสู่ net zero ภายในปีพ.ศ. 2593

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจราการค้าระหว่างประเทศ  กล่าวในงาน FAST TRACK to the NET ZERO ในหัวข้อ Surviving in the Low-carbon Export Markets หรือทางรอดสินค้าส่งออกไทยในตลาดคาร์บอนต่ำ ว่า เวทีการค้าระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญกับ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ

 

โดย WTO มีการยกเว้นให้สมาชิกจำกัดการนำเข้าเพื่อสิ่งแวดล้อมแต่ต้องสมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังมีความพยายามทำความตกลงหลายฝ่ายในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การค้าและความยั่งยืน ส่วนเวทีเอเปค มีการจัดทำรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมเพื่อลดภาษีนำเข้าให้เหลือไม่เกิน 5% ใน 54 รายการสินค้า และอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่บริการสิ่งแวดล้อม

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจราการค้าระหว่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเอฟทีเอยุคใหม่ที่มักมีข้อบทเรื่องสิ่งแวดล้อม Climate Change และข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่นเดียวกับเวลาอาเซียนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น

 

เทรนด์การค้าในตลาดคาร์บอนต่ำ ปรับตัวใช้นวัตกรรม และเทคโนฯในการผลิต

 

ในขณะที่ไทยเองมีนโยบายด้าน Climate Change  ไทยจะสามารถลดการปล่อยก๊าซฯ ลง 40% ภายในปีพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) และมุ่งสู่ net zero ภายในปีพ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) เช่น  การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพของ การเดินทางและขนส่ง การลดการใช้พลังงานภายในอาคาร และการส่งเสริม การลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนต่่า การลดปริมาณการเกิดของเสีย การเพิ่มพื้นที่ป่า การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวของชุมชน การพัฒนาข้อมูล งานศึกษาวิจัย และเทคโนโลยีเกี่ยวกับ Climate Change รวมถึงการจัดท่าร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

เทรนด์การค้าในตลาดคาร์บอนต่ำ ปรับตัวใช้นวัตกรรม และเทคโนฯในการผลิต

 

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยเกี่ยวข้องกับมาตรการ  CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ในปี 2564ไทยส่งออกสินค้าตามรายการ CBAM ไป EU $186.61 ล้าน USD (6,113.69 ล้านบาท) คิดเป็น 3.52% ของการส่งออกสู่โลก เช่น เหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่าส่งออก 4,109.08 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.76%  อะลูมิเนียม  มีมูลค่าส่งออก 2,004.15 ล้านบาทหรือ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก และ ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้าไทยส่งออกไป EU ในปริมาณที่น้อยหรือเป็นศูนย์

 

 

โอกาสรอดของสินค้าส่งออกไทยในตลาดคาร์บอนนั้น สิ่งแรกเลยคือผู้ประกอบการต้องปรับตัวโดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero โดยนำโมเดล BCG มาประยุกต์ใช้ 

 

นอกจากนี้ต้องมีการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ด้วยรวมถึงการแสวงหาโอกาสใหม่ๆที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น สินค้าและบริการสิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน  สิ่งสำคัญที่จะมุ่งไปสู่ Net Zero คือ การให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ภาครัฐของไทยจะมีให้และการขอรับการสนับสนุนทางเทคนิค และการเงินต่างประเทศ และต้องมีการสื่อสารทั้งสองทางคือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการบรรลุเป้าหมายเดียวกัน