วิจัยกรุงศรีประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนมีแนวโน้มดำเนินไปได้ใน 3กรณี ได้แก่
(1) การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังคงมีต่อไปจนสิ้นปี 2022
(2) การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น และ
(3) การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2022 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการยุติการส่งออกสินค้าพลังงานไปยุโรป
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
กรณีที่ 1 การสู้รบยุติภายในเดือนมีนาคม ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรยังคงมีต่อไปจนสิ้นปี 2022
การสู้รบจบภายในเดือนมีนาคม 2022 โดยรัสเซียถอนกำลังจากยูเครน แต่ยังสามารถครองอิทธิพลในเขต Donbass ได้ ทำให้ชาติตะวันตกยังคงมาตรการคว่ำบาตรจนถึงสิ้นปี 2022 ส่วนการค้าสินค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่ราคาน้ำมันพุ่งสูงในไตรมาสแรกของปี 2022 แล้วค่อยๆ ลดลง โดยทั้งปีราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยที่ 97.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นกระทบการผลิตและทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัว กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง เพิ่มความเสี่ยงของการ Stagflation[2] โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรป มาตรการคว่ำบาตรกระทบการค้าและนักท่องเที่ยวรัสเซียอย่างหนัก
วิจัยกรุงศรีคำนวณหาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย โดยใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) พบว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น 1.3% กระทบกำลังซื้อและการบริโภค ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 0.5% โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.7% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.0%
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย การค้าโลกที่ลดลง 1.1% ทำให้ปริมาณการส่งออกของไทยมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 1.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 1.4% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 0.4%
กรณีที่ 2 การสู้รบยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น
การรบยืดเยื้อไปจนถึงช่วงกลางปี ทำให้ชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การอายัดทรัพย์สินของคนรัสเซีย ลดการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากรัสเซีย ตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT รวมทั้งลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย เป็นต้น รัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การค้าขายสินค้าพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปยังคงดำเนินต่อไปได้ จึงไม่เกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานในยุโรป อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันขึ้นสูงตลอดครึ่งปีแรกจากความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าในกรณีแรก โดยทั้งปี 2022 ราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยที่ 105.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
เงินเฟ้อทั่วโลกเร่งตัว เพิ่มความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอย โดยเฉพาะหากราคาพลังงานที่สูงขึ้นถูกส่งผ่านไปที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงไปจนกระทั่งปี 2023 ขณะที่ฝั่งอุปสงค์ถูกกระทบจากทั้งรายได้ที่ลดลงและปัญหาการค้าหยุดชะงัก (Trade disruption) โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปตะวันออกลามไปทั้งยุโรป นอกจากนี้ ความเสี่ยงปัญหา Stagflation อาจถูกซ้ำเติมจากการ Tighten นโยบายช้าเกินไป
มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้นกระทบต่อการค้าโลกผ่านช่องทาง Trade disruption และผลของรายได้ ทำให้การค้าโลกลดลง 3.4% ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 2.0% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 1.3% โดยเศรษฐกิจของยูโรโซนขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 2.7% จากกรณีก่อนความขัดแย้ง
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ปริมาณการส่งของไทยมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 2.3% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.1%
กรณีที่ 3 การสู้รบยืดเยื้อจนถึงกลางปี 2022 ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงมากขึ้น และเกิด energy supply disruption ขึ้น
การรบยืดเยื้อคล้ายในกรณีที่ 2 ทำให้ชาติตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรง จนทำให้รัสเซียยุติการส่งออกพลังงานไปยุโรป น้ำมันดิบที่หายไป 2.5-3.0 ล้านบาร์เรลทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานในยุโรปและราคาพลังงานพุ่งสูงทั่วโลก โดยราคาน้ำมันแตะ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในครึ่งปีแรกและทั้งปีราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยที่ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตทั่วโลก และทำให้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
ปัญหาการขาดแคลนพลังงานในยุโรปส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ถึง 4.8% ส่วนเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นกว่ากรณีฐาน 6.8% ปัญหา Stagflation ลุกลามไปยังประเทศต่างๆ ผ่านช่องทางการค้าและตลาดการเงิน
การค้าระหว่างประเทศลดลง 3.9% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นกว่าในกรณีฐาน 3.6% ซึ่งจะฉุดเศรษฐกิจโลกมากถึง 2.9% โดยในกรณีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน และญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่ากรณีฐาน 1.8% 3.0% 1.4% และ 1.5% ตามลำดับ
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ปริมาณการส่งของไทยมีแนวโน้มน้อยกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น 3.1% จากกรณีฐาน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ 1.7%
ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย
นอกจากผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม วิจัยกรุงศรีคำนวณหาผลกระทบรายอุตสาหกรรมของไทย โดยใช้แบบจำลอง Dynamic Stochastic General Equilibrium (DSGE) พบว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง ได้แก่
ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางเรือ และอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าโลหะและพลังงาน
ส่วนอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ธุรกิจน้ำตาล เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง โดยอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ประโยชน์จากราคาที่สูงขึ้นและการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) (รูปที่ 23)
สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียยังคงมีความไม่แน่นอนสูง การสู้รบระหว่างสองประเทศอาจจะจบได้เร็ว แต่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะกินเวลานาน ดังนั้น ความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง การประเมินความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดจึงมีความจำเป็น
วิจัยกรุงศรีมองว่าผลของความขัดแย้งสามารถส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยด้วยช่องทางหลักสองด้าน คือ ด้านเงินเฟ้อและด้านพลังงาน ขณะที่ผลต่อการส่งออกยังมีจำกัด อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น ผลทางรายได้ (Income Effect) จะกลับมาส่งผลลบต่อทั้งภาคส่งออกที่คาดว่าจะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของปีนี้ และการท่องเที่ยวที่เป็นความหวังของการฟื้นตัวในที่สุด