ปศุสัตว์ สกัด “ไข้หวัดนก” พระนครศรีอยุธยา

15 มี.ค. 2565 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 14:51 น.

อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ "พระนครศรีอยุธยา" วางแผน สกัด เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกหากพบ ตายผิดปกติ โทรด่วน 24 ชั่วโมง


นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต

 

วันที่ 15 มีนาคม 2565  นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยปศุสัตว์เขต1 นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพ ปศุสัตว์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด่านกักกันสัตว์และเจ้าหน้าที่ร่วมลงพื้นที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เผยว่า ได้สั่งการปศุสัตว์จังหวัดที่มีนกอพยพ

 

หรือ นกประจำถิ่นในพื้นที่ให้เฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดโดยให้มีการดำเนินโครงการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเชิงรุกแบบบูรณาการ (X-ray) ปีละ 2ครั้ง และเพื่อให้การควบคุมและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่องและรายงานผลให้ทราบถึงสภาวะโรคไข้หวัดนกในพื้นที่ในปัจจุบันและเตรียมพร้อมรับมือ

 

หากเกิดเหตุฉุกเฉินในการระบาดของโรคสัตว์ปีกโดยให้ดำเนินการ ประสานกับหน่วยงานปศุสัตว์ในระดับพื้นที่ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวังโรคในกรณีเมื่อทราบหรือพบสัตว์ปีกป่วยหรือตาย โดยมีลักษณะน่าสงสัยโรคไข้หวัดนกให้ดำเนินการแจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ เพื่อตรวจสอบและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ

 

นอกจากนี้ให้ร่วมกับหน่วยงานปศุสัตว์ในระดับพื้นที่ทำลายสัตว์ปีกที่เหลือในฝูงและสัตว์ปีกบริเวณใกล้เคียงที่คาดว่ามีโอกาสได้รับเชื้อโรคแล้วทั้งหมดทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่อย่างเร่งด่วนทันทีพร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนก

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่าได้เตรียมความพร้อม ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก เข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องโดยได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เข้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เกษตรกร ตั้งแต่การปรับระบบการเลี้ยง โดยเน้นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

 

เช่น ป้องกันนกธรรมชาติเข้าเล้า/โรงเรือน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณสัตว์อาศัยอยู่เป็นประจำ หาแหล่งน้ำบริโภคให้สะอาด ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า – ออก ฟาร์ม ในกรณีที่จะนำสัตว์ปีกเข้าร่วมฝูง จะต้องมีการกักกันไว้ในบริเวณอื่นก่อน อย่างน้อย 7 วัน เป็นต้น

ปศุสัตว์ สกัด “ไข้หวัดนก” พระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทันที เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที

 

หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 096-301-1946 หรือแจ้งผ่าน Application: DLD 4.0