นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) รายงานพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกชนิดสายพันธุ์รุนแรง (Highly Pathogenic Avian Influenza: HPAI) ใน 61 ประเทศทั่วโลก รวมจุดพบโรคทั้งหมด 5,213 จุด และจากรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 พบรายงานการระบาดของโรค "ไข้หวัดนก" สายพันธุ์ชนิดความรุนแรงสูง (HPAI) ชนิด H5N1 H5N6 H5N2 H5N5 และ H5N8 มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
ทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา แอฟริกา รวมทั้งในเอเชีย อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม อีกทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานพบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนชนิด H5N6 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีผู้เสียชีวิต
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานหลัก ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังคงเตรียมความพร้อม ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก เข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมปศุสัตว์ได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เข้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งให้คำแนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่เกษตรกร ตั้งแต่การปรับระบบการเลี้ยง โดยเน้นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ
เช่น ป้องกันนกธรรมชาติเข้าเล้า/โรงเรือน ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณสัตว์อาศัยอยู่เป็นประจำ หาแหล่งน้ำบริโภคให้สะอาด ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้า – ออก ฟาร์ม ในกรณีที่จะนำสัตว์ปีกเข้าร่วมฝูง จะต้องมีการกักกันไว้ในบริเวณอื่นก่อน อย่างน้อย 7 วัน เป็นต้น
ท้ายนี้ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกสังเกตอาการสัตว์อย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่านำสัตว์ปีกไปจำหน่ายจ่ายแจก หรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทันที เพื่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินมาตรการ ควบคุมโรคทันที
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 096-301-1946 หรือแจ้งผ่าน Application: DLD 4.0 ได้ตลอดเวลาอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด