การประชุมสามัญประจำปีสมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ 15 มี.ค.2565 ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี วาระเลือกตั้งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี วาระปี 2565-2567 สมาชิกลงคะแนนให้นายอดุลย์ นิลเปรม เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี คนใหม่ แทนนายนิรามัย เลิศพัฒนสุวรรณ ที่ครบวาระ
นายอดุลย์ นิลเปรม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี คนใหม่ เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี มีภารกิจสานต่อโครงการที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ ทั้งหมด 7 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการพัฒนาเมือง 2)ด้านเกษตร 3) ด้านส่งเสริมการค้าการลงทุน 4) ด้านการท่องเที่ยว และวัฒนธรรม 5) ด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม 6) ด้านการศึกษา และ 7) ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม
โครงสร้างการทำงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี มีรองประธานกรรมการด้านต่าง ๆ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการสำคัญ อาทิ ส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเดชอุดม ส่งเสริมโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม New s-curve ประเภทอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เกษตรอินทรีย์อุตสาหกรรม โครงการโคอุบลโมเดล
โครงการ Smart bus ร่วมกับบริษัท อุบลรวมใจพัฒนาเมือง จำกัด โครงการสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและลดต้นทุนในอุตสาหกรรม ขนาด SME (Energy points) ร่วมกับสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เป็นต้น
"นอกจากนี้อุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์การค้าชายแดน เป็นกิจกรรมที่สภาอุตสาหกรรมดำเนินมาโดยตลอด และอีกโครงการที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่ สภาอุตสาหกรรม(ส.อ.ท.)อุบลฯ ได้มีการจัดหลักสูตรนักอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ หรือ Young FTI มาแล้ว 2 รุ่น พร้อมดำเนินการต่อเปิดโครงการใหม่รุ่น 3 ในปี 2565 นี้”
พร้อมกันนี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรม(ส.อ.ท.) อุบลราชธานี ร่วมกับหอการค้าฯ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ Kick off โครงการแรกด้านเกษตร จับมือกันเดินหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาโคขุน ตามระบบการส่งเสริมแบบอุบลโมเดล (CO-UBON MODEL) ในรูปแบบการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และเกษตรกร
เพื่อช่วยกันยกระดับเกษตรกรในการเลี้ยงโคขุน ให้เกิดการสร้างรายได้ที่มั่นคง ณ บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี, ศูนย์วิจัยอาหารสัตว์ยโสธร และอำนาจเจริญ, เกษตร และสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี, ผู้แทนประธานหอกาค้าจังหวัดอุบลราชธานี
รวมทั้งผู้ประกอบการ จาก MAX BEEF / ก้าวหน้าบีฟ / ฟาร์มกำนันเตียง, เกษตรกรต้นแบบจากอ.พิบูลมังสาหาร อ.สว่างวีระวงศ์ อ.วารินชำราบ, ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด (มหาชน) จากนั้น มีกิจกรรมพาเกษตรกรรับชมจุดผลิตอาหารสัตว์ TMR และแปลงหญ้าเนเปียร์