ครม.อนุมัติงบ 1.8 พันล้านบาทเป็นค่าตอบแทนผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ สพท.

15 มี.ค. 2565 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2565 | 14:49 น.

ครม.อนุมัติงบกลาง 1.8 พันล้านบาทเป็นค่าตอบแทน-ค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ สพท.และโรงเรียน ย้ำ นายกฯ ห่วงใยบุคลากรครู เร่งเพิ่มแรงจูงใจให้อยู่ในระบบลดเหลื่อมล้ำทางการศึกษา   

15 มีนาคม 2565 นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ สำหรับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และโรงเรียน กรอบวงเงิน 1,848 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การจัดสรรงบกลางดังกล่าว มาจากข้อสั่งการที่นายกรัฐมนตรีต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการศึกษาทั้งธุรการโรงเรียน ครูคลังสมองและตำแหน่งอื่นๆ ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งการสอนและสนับสนุนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะสถานศึกษาโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล สามารถรักษาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานด้านเอกสาร ให้ครูไม่ต้องเจียดเวลาการสอนไปทำงานธุรการจนกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการสอน 

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับความเป็นมาของการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีความจำเป็นต้องจ้างผู้ปฏิบัติงานให้ราชการ ในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 61,119 อัตรา 16 ตำแหน่ง  เช่น ธุรการโรงเรียน ครูรายเดือนเพื่อแก้ไขปัญหาโรงเรียนขาดแคลนครูขั้นวิกฤต และครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ ซึ่งข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2564 ต้องใช้งบประมาณ 8,315 ล้านบาท  แต่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 จำนวน 5,063 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ สพฐ. ได้ขอรับการจัดสรรงบกลางส่วนที่ยังขาดอีก 3,251 ล้านบาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนตามที่  สพฐ. ขอมาแต่อนุมัติกรอบวงเงิน 1,848  ล้านบาท เท่าที่จำเป็นและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งข้อมูล ณ เดือนม.ค. 2565 มีการจ้างอยู่ 58,873 อัตรา เนื่องจากมีการลาออกของลูกจ้างไปแล้ว  2,246 อัตรา

 

นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยต่อบุคลากรทางการศึกษาจึงเห็นชอบให้มีการจัดสรรงบกลางเพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าจ้างตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการศึกษาจะส่งผลสำคัญต่อคุณภาพการศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร จึงต้องให้ความมั่นคงเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครูยังอยู่ในระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ และการศึกษาที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชน นางสาวไตรศุลี รองโฆษกฯ กล่าว