ศบค.เตรียมเคาะโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ลุ้นคลายล็อคกิจกรรมเพิ่ม ศุกร์นี้

14 มี.ค. 2565 | 02:47 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 09:59 น.

โฆษกรัฐบาล รับการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ วันศุกร์ 18 มี.ค.นี้ กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอกำหนดแผนเปลี่ยนโรคโควิดจากการระบาดเป็นระยะเข้าสู่โรคประจำถิ่น พร้อมคลายล็อคกิจกรรมและกิจการต่าง ๆ เพิ่มเติม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ในวันศุกร์ที่ 18  มี.ค.นี้

 

มีวาระสำคัญเสนอของหน่วยงานต่าง ๆ เสนอเข้ามาให้ที่ประชุมพิจารณา โดยกระทรวงสาธารณสุข เตรียมเสนอกำหนดแผนเปลี่ยนจากการระบาด (Pandemic) เป็นระยะเข้าสู่ "โรคประจำถิ่น" (Endemic approach)


พร้อมกันนี้ คาดว่า กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเสนอปรับมาตรการต่างๆ ทั้งการควบคุม เฝ้าระวัง และป้องกันโควิด-19 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมทั้งอาจมีการพิจารณาคลายล๊อคกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเดินหน้าใช้ชีวิตได้อย่างปกติด้วย 

สำหรับการแผนเปลี่ยนจากการระบาดเป็นระยะเข้าสู่โรคประจำถิ่นนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้แบ่งออกเป็น 4 ระยะ (4 เดือน) หรือเรียกว่า 3 บวก 1 ดังนี้ 

  • ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.65) เรียกว่า Combatting เป็นระยะต่อสู้ ต้องกดตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง โดยจะมีมาตรการต่างๆ ออกไป 
  • ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.65) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อย 
  • ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.65) เรียกว่า Declining คือ การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1,000 - 2,000พันราย  
  • ระยะที่ 4 (บวก 1) ตั้งแต่ 1 ก.ค.2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น  

 

สิ่งที่จะทำคือ การปรับเป้าหมาย โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ เนื่องจากสถานการณ์ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แต่ยังเน้นเป้าหมายการฉีดวัคซีนป้องให้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อปรับอัตราเสียชีวิตให้ลดลงและเน้นการรักษาในกลุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ วันนี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่รวม 22,130 ราย จำแนกเป็น 

  • ผู้ป่วยจากในประเทศ 22,103 ราย 
  • ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 27 ราย 
  • ผู้ป่วยสะสม 983,520 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565)  
  • หายป่วยกลับบ้าน 23,508 ราย  
  • หายป่วยสะสม 788,794 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) 
  • ผู้ป่วยกำลังรักษา 225,889 ราย 
  • เสียชีวิต 69 ราย  

 

การให้บริการวัคซีน โควิด-19 สะสมอยู่ที่ 126,176,878 โดส แยกเป็น

  • เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 54,419,126 โดส 
  • เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 49,977,239 โดส 
  • เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 19,907,958 โดส 
  • เข็มที่ 4 ฉีดสะสม 1,872,555 โดส